ปตท.สผ.กางแผนปี’65 คาดยอดขายพุ่ง 6-7% แง้มมีปิดดีลใหม่ไตรมาส 1

ปตท.สผ.

ปตท.สผ.กางแผนปี 2565 คาดยอดขายพุ่ง 6-7% แง้มปิดดีลใหม่ไตรมาส 1 พร้อมเร่งเคลียร์ปมร้อนเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ-เตรียมแผนสำรองก๊าซแหล่งบงกช-อาทิตย์ ดีมานด์ก๊าซยังสูง คาดแนวโน้มราคาก๊าซ 7-10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า แนวโน้มธุรกิจปี 2565 บริษัทคาดว่าปริมาณการขายจะเติบโตเพิ่มขึ้น 6-7% จากปีนี้ ที่จะมียอดขาย 4.17 แสนล้านบาร์เรลเท่าน้ำมันดิบต่อวัน

โดยเป็นผลจากรายได้จากการลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะแหล่งโอมาน แปลง 61 และโครงการแปลงเอช ในประเทศมาเลเซียที่จะรับรู้รายได้เต็มปี รวมถึงการเข้าดำเนินการในแหล่ง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) อีกทั้งแนวโน้มต้นทุนราคาก๊าซยังมีแนวโน้มดีจากดีมานด์ความต้องการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งในระหว่างนี้ไปถึงไตรมาส 1/2565 อาจจะมีดีลใหม่เกิดขึ้น ยังมีโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ส่วนแผนการลงทุนในปีหน้าคาดว่าจะสรุปได้ในเดือนธันวาคมว่าจะใช้งบฯลงทุนเท่าไรจากแผนภาพรวมทั้งหมดที่ ปตท.ใช้งบฯลงทุน 8.65 แสนล้าน

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล

“ส่วนในปีนี้ ปตท.สผ.จะสร้างประวัติศาสตร์ใหม่ ในการผลิตและจำหน่ายเดิมเฉลี่ย 3 แสนล้านบาร์เรล แต่ปีนี้จะไปถึง 4.17 แสนล้านบาร์เรลเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจะมาจากการลงทุนโครงการในต่างประเทศ อาทิ โครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งรับรู้รายได้ในช่วงไตรมาส 2 และโครงการใหม่แปลงเอช ในประเทศมาเลเซียที่เริ่มรับรู้ในไตรมาส 2 เช่นกัน ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตน้ำมันเฉลี่ยจะอยู่ที่ 28-29 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ 5.7 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งทำให้อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อมอยู่ที่ 70-75%”

“แนวโน้มราคาน้ำมันยังมองว่า โอเปกจะพยายามรักษาระดับราคาให้อยู่ที่ 70-80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แม้ว่าขณะนี้ราคาขยับเกิน 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และทางโอเปกพลัสมีมติคงการเพิ่มกำลังการผลิตที่ 4 แสนล้านบาร์เรลต่อวันก็ตาม เช่นเดียวกับราคาก๊าซที่ปรับไปสูงมากแต่น่าจะเข้าสู่สมดุลใน 2-3 ปีข้างหน้า ทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 7-10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ดังนั้น จึงมองว่ารัฐบาลควรเปิดสัมปทานแหล่งผลิตในอ่าวไทยที่อาจจะยังเหลืออยู่เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น”

สำหรับความคืบหน้าของการเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสิทธิการดำเนินการของแปลง G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ซึ่งมีปัญหาการเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตและท่อใต้ทะเลได้ตามแผนติดค้างมา 2 ปีที่แล้ว คาดว่าจะสามารถเข้าดำเนินการได้ในวันที่ 24 เม.ย. 2565 แม้บริษัทจะยอมรับเงื่อนไขการเข้าพื้นที่ของผู้รับสัมปทานปัจจุบันแล้วก็ตาม

ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ทางบริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา ประสานงานกับผู้ซื้อและหน่วยงานรัฐอย่างต่อเนื่อง เพื่อวางแผนให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด และจะพยายามเร่งการลงทุนในแหล่งอื่น ๆ ที่มีศักยภาพเพียงพอ เพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่หายไปบางส่วน ซึ่งบริษัทได้เตรียมแหล่งผลิตชดเชยคือแปลง G2/61 (แหล่งบงกช) ซึ่งผลิตได้ 700 แต่อาจจะเพิ่มได้ถึง 850 ล้านลูกบาศก์ฟุต และแหล่งอาทิตย์ ซึ่งจะมาชดเชยได้ประมาณ 60 ล้านลูกบาศก์ฟุต

ทั้งนี้ แม้ว่า ปตท.สผ.จะเน้นนโยบายคัมมิ่งโฮม แต่ที่ผ่านมาก็ได้ขยายการลงทุนโครงการในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น โอมาน ยูเออี มาเลเซีย เมียนมา โดยในส่วนของประเทศเมียนมา ได้เข้าไปสำรวจและผลิตในประเทศเมียนมา เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมของประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงติดตามสถานการณ์ในประเทศเมียนมาอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเสี่ยงและพิจารณาแผนการดำเนินงาน และวางแผนรองรับตามความเหมาะสม

ขณะที่โครงการในประเทศมาเลเซีย ปตท.สผ.ได้เริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติจากโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีกำลังการผลิตสูงสุดอยู่ที่ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตตามเป้าหมาย ส่งผลให้ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 1 ปีนี้ นอกจากนี้ ยังประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจ ค้นพบแหล่งปิโตรเลียมใน 4 โครงการ

ได้แก่ โครงการซาราวัก เอสเค 410 บี (แหล่งลัง เลอบาห์) โครงการซาราวัก เอสเค 417 (หลุมโดกง-1) โครงการซาราวัก เอสเค 405 บี (หลุมซีรุง-1) และโครงการซาราวัก เอสเค 438 (หลุมกุลินตัง-1) และยังคงเดินหน้าสำรวจในแหล่งอื่น ๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง โดยวางแผนพัฒนาโครงการในประเทศมาเลเซียในรูปแบบกลุ่มโครงการ (Cluster development) รวมถึงการใช้อุปกรณ์การผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

โครงการในภูมิภาคตะวันออกกลาง ประกอบด้วย โครงการโอมาน แปลง 61 ที่เสร็จสิ้นการเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุน 20% ในไตรมาส 1 และปัจจุบันสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติเต็มกำลังการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และคอนเดนเสตที่ 69,000 บาร์เรลต่อวัน สำหรับโครงการในระยะสำรวจที่สำคัญ คือ โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1, อาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาทางธรณีวิทยา และวางแผนเจาะหลุมสำรวจโครงการในทวีปแอฟริกา

นอกจากนี้ยังมีความคืบหน้าที่สำคัญในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โดย ปตท.สผ.ได้เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนในโครงการเพิ่มอีกร้อยละ 24.5 จากบริษัท ซีนุค (CNOOC Limited) ทำให้มีสัดส่วนการลงทุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 24.5 เป็นร้อยละ 49 โดยมีโซนาแทรค (SONATRACH) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของแอลจีเรีย เป็นผู้ร่วมลงทุนหลักในสัดส่วนร้อยละ 51 ปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดว่าโครงการดังกล่าวจะเริ่มผลิตน้ำมันดิบได้ในปี 2565 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 10,000-13,000 บาร์เรลต่อวัน

นายมนตรีเปิดเผยถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างการเติบโตให้กับ ปตท.สผ. ท่ามกลางสถานการณ์ความท้าทายช่วงการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานนั้น ปตท.สผ.วางแนวทางการดำเนินธุรกิจ เน้น 3 เรื่องหลัก คือ สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ ปตท.สผ. มีความชำนาญ

ได้แก่ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง โดยจะเพิ่มสัดส่วนก๊าซธรรมชาติเป็น 80% และน้ำมัน 20% ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกผ่านเทคโนโลยีการดักจับ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Storage หรือ CCS)

พร้อมทั้งลงทุนในธุรกิจใหม่ (Beyond E&P) 3 ด้าน คือ ธุรกิจด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ โดยลงทุนผ่านบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือเออาร์วี (AI and Robotics Ventures Company Limited) ธุรกิจไฟฟ้าที่ต่อยอดจากก๊าซธรรมชาติ เช่น โครงการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ (Gas to Power) และพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จะมองหาโอกาสการลงทุนกับพันธมิตรที่มีศักยภาพ

โดยล่าสุดได้จัดตั้งบริษัท ฟิวเจอร์เทค เอนเนอร์ยี่ เวนเจอร์ส จำกัด (FutureTech Energy Ventures Company Limited) และบริษัท ฟิวเจอร์เทค โซลาร์ (ประเทศไทย) จำกัด (FutureTech Solar (Thailand) Company Limited) เพื่อรองรับการลงทุนในอนาคต รวมถึงลงทุนในธุรกิจที่รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ซึ่งมุ่งสู่พลังงานสะอาด และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

เช่น เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture Utilization and Storage หรือ CCUS) และพลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคต (Future Energy) เช่น พลังงานไฮโดรเจน

ทั้งนี้ ปตท.สผ.วางเป้าหมายว่าจะปรับพอร์ตการลงทุนในธุรกิจใหม่ให้มีกำไรคิดเป็นสัดส่วน 20% ในปี 2035