สมอ. จับมือ ISO ยกระดับความร่วมมือในเวทีมาตรฐานสากล

สมอ. หารือ ISO ยกระดับมาตรฐานไทยสู่มาตรฐานระหว่างประเทศ รองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ตามนโยบาย Thailand 4.0 พร้อมเดินหน้าผลักดัน มอก. 9999 เป็นมาตรฐานสากล

นายณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคของ ISO เรื่อง การตลาดและการสื่อสาร (Marketing and Communication) ว่าการสัมมนาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในด้านการตลาดและการสื่อสารให้แก่สมาชิกในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เข้าร่วมสัมมนาจากประเทศต่างๆ จำนวน 24 ประเทศ ได้แก่ บรูไนดารุสซาราม กัมพูชา จีน ฟิจิ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี อินโดนีเซีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เขตบริหารพิเศษมาเก๊า มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ ภูฏาน อินเดีย อิหร่าน เนปาล ปากีสถาน ศรีลังกา และประเทศไทย

ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ISO ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 โดยมี สมอ. ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานแห่งชาติทำหน้าที่เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมดำเนินงานกับ ISO ทั้งด้านบริหารและวิชาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีการนำมาตรฐานไปใช้อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนตลอดมา ปัจจุบัน สมอ. ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเภทร่วมทำงาน (P-member) ในคณะกรรมการวิชาการ (TC) และคณะอนุกรรมการวิชาการ (SC) รวม 103 คณะ และเป็นสมาชิกประเภทสังเกตการณ์ (O-member) รวม 206 คณะ โดยมีผู้แทนไทยเข้าร่วมในการประชุม TCs/SCs ที่มีการพิจารณาร่างมาตรฐานที่ประเทศไทยเป็นผู้เสนอให้จัดทำ หรือร่างมาตรฐานที่มีผลกระทบต่อผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้ใช้ในประเทศ

ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาดังกล่าว สมอ. ได้รับเกียรติจาก Mr. Nicolas Fleury รองเลขาธิการ ISO ร่วมหารือเกี่ยวกับกิจกรรมมาตรฐานระหว่างประเทศ อาทิ
1. การเพิ่มบทบาทของ สมอ. ในงานของ ISO
2. การนำเสนอ มอก. ๙๙๙๙ เล่ม ๑ – ๒๕๕๖ เป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ
3. บทบาทของภาคเอกชนไทยใน ISO
4. ความร่วมมือระหว่าง ISO กับองค์กรมาตรฐานอื่นๆ เพื่อรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยี

5. มาตรการที่ ISO จะนำมาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสมาชิก
โดยเฉพาะการเพิ่มบทบาทในเวทีมาตรฐานสากล สมอ. เตรียมการเข้าร่วมทำงานในคณะกรรมการวิชาการ/คณะอนุกรรมการของ ISO เพิ่มเติม เพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 อาทิ TC 184 Automation systems and integration TC 269 Railway applications TC 299 Robotics รวมถึง ความพร้อมของ สมอ. ในการพัฒนาบทบาทจากการเป็น Co-Secretary ขยายผลไปสู่การทำหน้าที่ Secretary หรือ Chair ในเวทีมาตรฐานสากลในอนาคต

ในส่วนของการผลักดัน มอก. 9999 เล่ม 1 – 2556 เป็นมาตรฐาน ISO ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างการจัดทำ Preliminary Work Item เพื่อนำเสนอ มอก. 9999 เล่ม 1 – 2556 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม (Guidance on Sufficiency Economy for Industries) ให้ฝ่ายเลขานุการ ISO/TC 292 Security and resilience (สวีเดน) พิจารณา คาดว่าจะสามารถนำเสนอได้ภายในปีนี้

เลขาธิการ สมอ. กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า นอกจากนี้ สมอ. ยังหารือเกี่ยวกับการสนับสนุนให้ภาคเอกชนของไทยเข้ามามีบทบาทในงานของ ISO มากขึ้น โดยเข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญในคณะทำงานภายใต้คณะกรรมการวิชาการ/คณะอนุกรรมการวิชาการของ ISO รวมทั้งเข้าร่วมในการประชุมต่างๆ เพื่อบูรณาการการทำงานทั้งในด้านการกำหนดมาตรฐานไทยและการร่วมกำหนดมาตรฐานระหว่างประเทศอีกด้วย