แพ็กเกจกระตุ้น “รถอีวี” ป่วน รัฐบาลขาดเงิน “อุดหนุนราคา” จูงใจซื้อ

อีวี

แพ็กเกจรถอีวีป่วน ! รัฐบาลไม่มีเงินจัดมาตรการจูงใจซื้อรถ แนวทางคล้าย “รถคันแรก” ขณะที่โครงสร้างภาษีไม่สะเด็ดน้ำ ผู้ประกอบการอีโคคาร์ร้องกระทบไลน์การผลิตที่รัฐบาลก่อนส่งเสริม หวั่นค่ายญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ลั่นรัฐต้องสร้างสมดุลในอุตสาหกรรม ไม่เอื้อรายใดรายหนึ่ง ระยะยาวต้องปรับขึ้นภาษีรถยนต์ยกแผงเพื่อจูงใจผลิตอีวี

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลยังอยู่ระหว่างหารือแพ็กเกจมาตรการกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่จะนำมาใช้กระตุ้นการซื้อรถอีวีในปี 2565 โดยมีแนวทางที่พูดคุยกันอยู่ ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน คือ จะใช้การลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพื่อให้ราคาขายรถอีวีถูกลง เพื่อจูงใจผู้ซื้อรถ เหมือนกับรถยนต์คันแรกในอดีต หรืออีกแนวทาง คือ การตั้งกองทุนอีวีขึ้นมา แล้วใช้เงินกองทุนในการอุดหนุนราคารถให้ถูกลง สูงสุด 20% ของราคารถอีวี

“ไอเดียมาตรการจูงใจจะคล้าย ๆ กับที่เคยทำรถคันแรก โดยลดภาษี หรือตั้งเป็นกองทุน นำเงินไปอุดหนุนราคา ซึ่งถ้าตั้งกองทุนก็อาจจะนำเงินไปใช้ตามวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ได้ หรือใช้ในด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวกับรถอีวีอื่น ๆ ได้ แต่ปัญหาคือ รัฐบาลไม่มีเงิน เพราะมีปัญหาเรื่องรายได้อยู่ จากการที่เก็บภาษีได้ต่ำในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 จึงยังหาข้อสรุปไม่ได้” แหล่งข่าวกล่าว

ส่วนมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตรถอีวี ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยแม้ว่าทางกรมสรรพสามิตจะมีการเสนอโครงสร้างอัตราภาษีให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน พิจารณาแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากผู้ประกอบการค่ายรถยนต์ที่เป็นสมาชิกหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ มีการร้องเรียนถึงผลกระทบที่จะเกิดกับการผลิตรถยนต์อีโคคาร์ที่รัฐบาลส่งเสริมมาก่อนหน้านี้ จึงทำให้ต้องมีการตัดสินใจเพิ่มเติมในระดับนโยบายให้ชัดเจนก่อน

“อีโคคาร์มีการลงทุนมา โดยส่งเสริมมาตั้งแต่รัฐบาลก่อนหน้านี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการบอกว่า ได้ทุ่มลงทุนไปกับไลน์การผลิตอีโคคาร์ตามการส่งเสริมของรัฐบาลที่ผ่านมาไปมากแล้ว ดังนั้น หากรัฐบาลชุดนี้จะปรับเปลี่ยนนโยบายไปสนับสนุนรถอีวี ในด้านภาษีก็ต้องคำนึงถึงไลน์การผลิตที่ได้ลงทุนไปแล้วด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นโยบายการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้ายืนยันว่า ภาครัฐไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับค่ายรถรายใดรายหนึ่ง จึงต้องพยายามทำให้สมดุลมากที่สุด และต้องให้ผู้ผลิตทุกค่ายมีความพร้อม ซึ่งขณะนี้ต้องยอมรับว่าค่ายรถยนต์ที่พร้อมที่สุด อาจจะไม่ใช่รถยนต์ค่ายญี่ปุ่น ซึ่งทางค่ายญี่ปุ่นเองก็ต้องพยายามปรับตัว

“เรื่องนี้ต้องสร้างความสมดุลในอุตสาหกรรมกับทุก ๆ ค่ายรถยนต์ เพราะถ้าค่ายรถยนต์ยุโรป และจีนมีความพร้อม แต่ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นยังไม่พร้อม ก็ต้องสร้างความสมดุลให้ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นไม่เสียเปรียบในเรื่องนี้ เพราะถ้าค่ายรถยนต์ญี่ปุ่นรู้สึกว่าไม่สะดวกในการมาลงทุนในไทย ก็อาจจะมีการย้ายฐานการผลิต ซึ่งเขาก็อยู่กับเรามานาน จึงไม่อยากให้เกิดขึ้น” แหล่งข่าวกล่าว


ทั้งนี้ การสร้างความสมดุลในเรื่องโครงสร้างภาษีรถอีวีเป็นเรื่องนโยบาย ต้องรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ แต่ในหลักการ คือ ในระยะข้างหน้าจะต้องมีการเพิ่มภาษีสรรพสามิตรถยนต์เกือบทุกประเภท ทั้งรถยนต์นั่ง อีโคคาร์ ไฮบริด รวมถึงปลั๊ก-อิน ไฮบริด เพื่อให้ช่องว่างอัตราภาษีรถยนต์ต่างกัน จะได้เกิดแรงจูงใจในการผลิตรถอีวี เพราะปัจจุบัน เช่น รถยนต์ไฮบริด ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จะเสียภาษีสรรพสามิตรถยนต์เพียง 4% ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า คิดอัตราภาษีอยู่ที่ 2% ต่างกันเพียง 2%