“บีบีจีไอ” ผนึก 17 หน่วยงาน MOU ขับเคลื่อนนวัตกรรมอุตฯ ชีววิทยาสังเคราะห์

บางจากส่ง ‘บีบีจีไอ’ ผนึก 17 หน่วยงาน MOU โครงการ Thailand Synthetic Biology Consortium สร้างเครือข่ายความร่วมมือ ขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์เครือข่ายแรกในประเทศไทย

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่าสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สนอ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ริเริ่มโครงการก่อตั้ง “Thailand Synthetic Biology Consortium” เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันและขับเคลื่อนนวัตกรรม และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติด้านยกระดับการพัฒนาอุตสาหกรรมภายใต้เศรษฐกิจ BCG ให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืนของรัฐบาล

โดยมีเครือข่ายความร่วมมือในระยะก่อตั้ง ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.), สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และบริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาชน)

ล่าสุดวันนี้ (11 พฤศจิกายน 2564) ได้มีการจัดพิธีแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เครือข่าย Thailand Synthetic Biology Consortium ในรูปแบบออนไลน์ระหว่างพันธมิตร 17 หน่วยงาน เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศไทย

การจัดงานในครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงและขยายเครือข่ายความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศ Synthetic Biology (ชีววิทยาสังเคราะห์) ในประเทศไทย

สำหรับ 17 หน่วยงาน ได้แก่

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยการสถาบันนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (III)
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.)
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยนเรศวร
สถาบันวิทยสิริเมธี
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
มหาวิทยาลัยแม่โจ้
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
บริษัท บีบีจีไอ จำกัด (มหาขน)
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน).
บริษัท เบทาโกร จํากัด (มหาชน)
บริษัท ไบโอ บัดดี้ จำกัด
บริษัท เทสท์บัด จำกัด

ดร.อะจิคุมาร์ พารายิล CEO และผู้ก่อตั้ง Manus Bio Inc. บริษัทผู้นำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงของสหรัฐอเมริกา แชร์มุมมองและแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในระดับโลก ว่าเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์สามารถร่นระยะเวลาและเพิ่มปริมาณการผลิตชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับการผลิตอาหาร ยา และ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทำให้สามารถผลิตวัตถุดิบเหล่านี้ได้ปริมาณที่มากขึ้นในระยะเวลาสั้นลง

นอกจากนั้น การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ในการผลิตยังสามารถช่วยในเรื่องของการกระจายตัวของแหล่งผลิตวัตถุดิบ ทำให้สามารถผลิตชีวภัณฑ์ต่าง ๆ ได้จากทุกที่บนโลก ที่สำคัญ การใช้เทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ยังช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ดร.คอสทัส วาวิสทัส ผู้จัดการเครือข่าย SINERGY เครือข่ายความร่วมมือในการผลักดัน ขับเคลื่อนนวัตกรรมและอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ ประเทศสิงคโปร์ ได้พูดถึงการเป็น Global Bioeconomy Hub (ศูนย์กลางทางเศรษกิจของโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ) ของประเทศสิงคโปร์ว่า ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์สามารถขับเคลื่อนวงการ Synthetic Biologyนั้น มาจากความร่วมมือแบบ Public-Private Partnership ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เริ่มตั้งแต่ขั้นแรกของกระบวนการทำงาน ส่งเสริมจุดแข็งซึ่งกันและกัน

โดยภาคเอกชนนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านการทำธุรกิจและเข้าใจความต้องการของตลาด ส่วนภาครัฐทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเรื่องของการค้นคว้า วิจัย จัดตั้ง bio-foundry (โครงสร้างพื้นฐานสำหรับงาน Sequencing และ Synthesis) อำนวยความสะดวกในส่วนของทรัพยากร นโยบาย ไปจนถึงการสนับสนุนเงินลงทุน

นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมแสดงความยินดีกับการแสดงเจตจำนงในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) และสนับสนุนให้เกิดโอกาสที่จะขยายความร่วมมือ เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์ในประเทศ

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน มีความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบการเกษตร จึงมีความพร้อมที่จะต่อยอดไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการพัฒนา ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาสังเคราะห์จะสามารถต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมอื่น ๆ เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้ทั้งระบบ รวมทั้งยังเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน “