ปรับแผนสู่ Net Zero พพ.ผุดไอเดียดัดแปลงรถ EV

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 31 ต.ค.-12 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เข้าร่วมประชุมพร้อมผู้นำทั่วโลกกว่า 120 ประเทศ

พร้อมให้คำมั่นว่าไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) ภายในหรือก่อนหน้าปี 2065

ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ

นั่นถือเป็นจุดสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ “ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ” อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงการวางรากฐานการก้าวสู่เป้าหมาย net zero

โดยเฉพาะการปรับแผนขยายการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง จากนโยบายการผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30% ในปี 2030

อนุรักษ์คู่ขนานส่งเสริม

ที่ผ่านมากรมมีการดำเนินงานทั้งเรื่องอนุรักษ์และส่งเสริมพลังงานทดแทน เรามีกฎหมาย พ.ร.บ.อนุรักษ์พลังงานฯ และมีแผนงาน/โครงการหลายเรื่อง (กราฟิก) เช่น มาตรฐานอาคารอนุรักษ์พลังงาน ล่าสุดได้มีการจัดทำกฎหมายกำหนดให้มีการตรวจสอบแบบอาคารก่อสร้างใหม่ เริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 ที่ผ่านมาสำหรับอาคาร 10,000 ตร.ม. และทยอยใช้สำหรับอาคาร 5,000 และ 2,000 ตร.ม.ในอีก 2 ปี

ขณะเดียวกัน กรมได้เพิ่มการอำนวยความสะดวกการจัดทำรายงานการจัดการพลังงานเป็น e-Report พร้อมทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่ายผู้ประกอบการรวมถึงเอสเอ็มอีที่จะทำเรื่องอนุรักษ์พลังงานผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการสนับสนุนการลงทุน ปรับปรุงระบบหรือเครื่องจักรเพื่ออนุรักษ์พลังงาน

เราเปิดรับสมัครแล้วจนถึง 21 ม.ค. 2565 โดยมีเกณฑ์สนับสนุน 20-30% มีวงเงิน 400 ล้านบาท และช่วยภาคขนส่งรถบรรทุกต่าง ๆ ที่มีการดัดแปลงเพื่อลดการใช้พลังงาน ก็ให้การสนับสนุน 30% วงเงิน 30 ล้านบาท

นอกจากนี้ มีการส่งเสริมพลังงานทดแทนในภาคความร้อน มีงบประมาณ 177 ล้านบาท ในส่วนของชีวมวล สนับสนุนเงิน 30% ของวงเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท ส่วนก๊าซชีวภาพที่มีขนาดไม่เกิน 5.99 กก.ต่อวัน สนับสนุน 30% ของวงเงินลงทุน หรือไม่เกิน 9 ล้านบาท, ตั้งแต่ 6-11.99 กก.ต่อวัน สนับสนุน 25% ของวงเงินลงทุน แต่ไม่เกิน 12 ล้านบาท เปิดรับถึง 30 ธ.ค.นี้ ตอนนี้มีสมัครมาแล้ว 10 กว่าราย

“ขณะนี้ราคาน้ำมันเตา/ถ่านหินที่ให้ความร้อนปรับสูงขึ้นเป็นประวัติศาสตร์จาก 80 ไปเป็น 150 เหรียญสหรัฐต่อตันแล้ว ส่งผลให้เกิดความสนใจในการทำให้ไบโอแมสสอดรับกับเรื่องกรีนและคาร์บอนนิวเทรียลที่นายกรัฐมนตรีประกาศในปี 2050 ด้วย”

ปรับแผนปีหน้าหลัง COP26

“แผนปีหน้ากรมจะต้องดำเนินการอย่างเข้มข้นหลายด้าน ทั้งเรื่องอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากการประชุม COP26 ต้องปรับแผนให้เร็วขึ้น ซึ่งต้องหารือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง หลังจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานได้ข้อสรุปเรื่องแผนพลังงานแห่งชาติในเดือนมีนาคมปี 2565”

“ส่วนกองทุนอนุรักษ์พลังงานซึ่งในปีหน้าได้รับจัดสรรต่ำกว่าปีนี้ แต่สุดท้ายอาจจะต้องมาคุยกันใหม่ เพราะว่าหลังจาก COP26 ท่านนายกรัฐมนตรีมีเป้าหมายที่แชลเลนจ์ขึ้นมา การมุ่งสู่คาร์บอนนิวเทรียล เครื่องมือที่มีทั้งหมด ทั้งกฎหมาย เงิน และการจัดพอร์ตโรงไฟฟ้าก็จะเป็นประเด็นที่ต้องไปให้ถึง เราต้องใช้งบฯกองทุนอนุรักษ์มากขึ้นหรือไม่”

ทั้งนี้ ในช่วง 5 ปีก่อนจากที่เคยมีเงินกองทุนหลักหมื่นล้าน แต่ในปี 2563 เหลือ 2,000 ล้านบาท ส่วนปี 2564 ใช้ประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท จากกรอบ 6,000 ล้าน

ไอเดียหนุนดัดแปลงมอ’ไซค์อีวี

อีกอันที่จะไปให้ถึงเป้าหมาย ไทยต้องมุ่งพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ฉะนั้น ภาคขนส่งต้องมาคุยกันว่าจะสนับสนุนอะไรบ้างในเครื่องมือที่มีประกอบด้วย เงินกองทุน กฎหมาย และภาษี ความเป็นไปได้ที่จะลดภาษีสรรพสามิต และภาษีนำเข้า ในส่วนของกรมมองเรื่องการส่งเสริมรถดัดแปลงโดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพราะการลงทุนผลิตรถอีวีนั้นค่ายรถยนต์ขนาดใหญ่ก็มีแผนและไทมิ่งอยู่แล้วว่าจะดำเนินการอะไรอย่างไรบ้าง

“การผลักดันคาร์บอนนิวเทรียลต้องทำเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนให้เข้มข้นขึ้น และต้องผลักดันเรื่องรถไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งในระยะแรกมองว่าควรจะเริ่มจากการสนับสนุนมอ’ไซค์ไฟฟ้า ขณะนี้จำนวนมอเตอร์ไซค์มากขึ้นในแคมปัส วิน GRAB Kerry โรบินฮู้ด ต่าง ๆ มากขึ้น

และปัจจุบันมีโรงงานผลิตในประเทศได้แล้ว 2-3 แห่ง การส่งเสริมดัดแปลงรถโดยสารขนาดเล็กเพื่อเตรียมความพร้อมและสร้างความตื่นตัวให้กับเอสเอ็มอีในประเทศที่จะต้องผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และระบบชาร์จจิ้ง รวมไปถึงแบตเตอรี่ จึงมีไอเดียที่จะสนับสนุน”

เราวางแนวทางการส่งเสริม สิ่งแรกต้องทำมาตรฐานก่อน สอง คือ ช่วยให้รถราคาถูกลง ก็อาจใช้หลักการที่ใช้ในโครงการที่ผ่านมา เช่น สนับสนุนเงิน 30% แบตเตอรี่ เป็นต้น

ผนึก ปตท.-บางจาก-อีเอ

ขณะนี้ได้หารือพันธมิตร มีค่าย ปตท. บางจาก และอีเอ สนใจร่วม ทางกรมจะไปหาวินมอเตอร์ไซค์และให้พันธมิตรมาลงจุดเปลี่ยนแบตฯ อีกอันคือ โรบินฮู้ด สนใจให้ไรเดอร์ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ใช้ SCB เป็นจุดเปลี่ยนแบตฯ และในส่วนของการผลิตเราจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ผลิตมอ’ไซค์สเกลอัพมากขึ้น ได้เชิญบริษัทผู้ผลิตและสมาคมรถอีวีมาหารือกันแล้วเช่นกัน

ขณะเดียวกัน มองถึงการดัดแปลงเครื่องยนต์ รถโดยสารขนาดเล็ก เช่น รถแดงพัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่ เพราะรถนี้มีพื้นที่วางแบตเตอรี่ ซึ่งต้องเสนอโครงการเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนอนุรักษ์พลังงานฯต่อไป

สานต่อแผนงานปี 2565

นอกจากนั้น กรมมีแผนขยายการส่งเสริมไปยังภาคเกษตร เช่น โครงการสนับสนุนสมาร์ทฟาร์มเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อประหยัดพลังงาน การจัดทำโครงการวิจัยการซื้อขายเชื้อเพลิงชีวมวลสำหรับโรงไฟฟ้า หรือโรงงาน สำหรับหม้อไอน้ำซึ่งปัจจุบันกระบวนการซื้อขายยังขึ้นอยู่กับผู้รับซื้อ กำหนดราคาควรวัดตามระดับความชื้นเช่นเดียวกับข้าว ตอนนี้เตรียมวิจัยงบฯ 15 ล้านบาท


และในอนาคตมองถึงโรงไฟฟ้าชุมชนที่กำลังเตรียมแผนสำหรับปีถัดไปว่าจะไปจับกับพื้นที่เกษตรที่ปลูกพืชประกันรายได้ เพื่อจะได้รู้ว่าการปลูกในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ โดยตอนนี้หารือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเตรียม MOU วางโมเดลคล้ายกับโรงงานอ้อย วัตถุดิบตามรัศมีเท่าไร จึงควรตั้งโรงงาน หากสำเร็จจะช่วยลดการใช้เงินประกันรายได้