ประยุทธ์สั่งเกาะติดน้ำท่วมใต้ 24 ชม. ชป.เร่งระบายน้ำท่วมนคร-บางสะพาน

ประยุทธ์สั่งชป.เกาะติดน้ำท่วมใต้ 24 ชม.

กรมชลประทานสั่งการให้ทุกโครงการชลประทานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์ 24 ชม. เร่งระบายน้ำท่วมบางสะพาน พร้อมเตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพในการกักเก็บน้ำ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ จ.ภูเก็ต รับเปิดประเทศ 

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กำชับให้ติดตามผู้ได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ของไทย ให้หน่วยงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนและปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์

ทั้งนี้ ในส่วนของการให้การช่วยเหลือประชาชนจะต้องเป็นไปในรูปแบบบูรณาการทุกภาคส่วน เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้ผ่านพ้นวิกฤตน้ำท่วมโดยเร็ว รวมทั้งกำหนดมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบภายหลังจากน้ำลดด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำคลองท่าดี-เทศบาลนครนครศรีธรรมราช โดยในระหว่างวันที่ 10-13 พ.ย. 2564 มีน้ำไหลผ่านคลองท่าดี ที่สถานี x.55 บริเวณบ้านท่าใหญ่ ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา สะสมแล้วประมาณ 11.3 ล้าน ลบ.ม. เมื่อรวมกับปริมาณน้ำท่า (Side Flow) และฝนที่ตกในพื้นที่ อีก 4.9 ล้าน.ลบ.ม. เป็นปริมาณน้ำไหลเข้าเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชรวมกันประมาณ 16.2 ล้าน ลบ.ม.

ซึ่งได้ทำการระบายน้ำผ่านประตูระบายน้ำนครน้อย ประตูระบายน้ำป่าเหล้า ประตูระบายน้ำคูพาย คลองทุ่งปรัง-ท่าซัก และคลองสวนหลวง ตามลำดับ ปริมาณน้ำระบายสะสมรวม 14.3 ล้าน ลบ.ม. ยังคงมีน้ำขังอยู่ในบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำอีกประมาณ 1.9 ล้าน ลบ.ม. หากไม่มีฝนตกเพิ่มในพื้นที่คาดว่าจะสามารถระบายน้ำทั้งหมดภายในเร็ววันนี้ พร้อมทั้งเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ช่วยชาวบางสะพาน

ด้านสถานการณ์น้ำภาคใต้ฝั่งตะวันตกบริเวณจังหวัดสงขลา ตรัง พัทลุง และสตูล กรมชลประทานได้นำเครื่องจักร เครื่องมือ รวมกว่า 400 หน่วย เข้าติดตั้งในพื้นที่เสี่ยงตามแผนป้องกันอุทกภัยที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้แล้ว อาทิ

จังหวัดสงขลา บริเวณพื้นที่เศรษฐกิจเทศบาลนครหาดใหญ่ ชุมชนริมคลองธรรมชาติ อำเภอหาดใหญ่ บริเวณคาบสมุทรสทิงพระ

จังหวัดพัทลุง ในเขตเทศบาลควนขนุน เทศบาลตำบลแม่ขรี บริเวณบ้านโคกยา ตำบลเขาชัยสน และบริเวณทะเลสาบสงขลา อำเภอเมืองพัทลุง

จังหวัดตรัง บริเวณตลาดนาโยง ตำบลนาโยงเหนือ บริเวณวัดท่าจีน ตำบลทับเที่ยง และบริเวณตลาดเทศบาลย่านตาขาว ตำบลย่านตาขาว

และจังหวัดสตูล บริเวณเกาะหลีเป๊ะ ตำบลเกาะสาหร่าย เขตเทศบาลตำบลกำแพง ตำบลกำแพง บริเวณประตูระบายน้ำบาโรยปลายคลองก่อนระบายน้ำลงสู่ทะเล และบริเวณชุมชนหลังแขวงการทางจังหวัดสตูล

ด้านเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำ และความคืบหน้าโครงการอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ ณ ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการผลิตน้ำประปาในเขต อ.เมือง จ.ภูเก็ต และเป็นแหล่งน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงบริเวณอ่างเก็บน้ำ

อย่างไรก็ตาม จากปริมาณความต้องการน้ำอุปโภคบริโภคเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งแหล่งเก็บกักน้ำที่นำมาใช้ประโยชน์ได้ มีปริมาณไม่เพียงพอ อีกทั้งการนำน้ำท่ามาใช้ประโยชน์น้อยกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทานจึงมีแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งเก็บกักน้ำและเพิ่มศักยภาพการจ่ายน้ำของแหล่งน้ำให้มากขึ้น เพิ่มปริมาณการสูบใช้น้ำจากน้ำท่าให้มากขึ้น และเพิ่มปริมาณการใช้น้ำจากแหล่งน้ำอื่น ๆ

เช่น น้ำใต้ดิน น้ำบาดาล น้ำทะเล หรือน้ำจากนอกพื้นที่ ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งน้ำดังกล่าว ให้มีปริมาณน้ำต้นทุนสำหรับการอุปโภคบริโภค

ทั้งนี้ สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำคลองกะทะ (ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ย. 64) มีปริมาณน้ำ 4.13 ล้าน ลบ.ม. (99.7%) คาดว่าภายในสิ้นปี 2564 จะมีปริมาณน้ำ 3.20 ล้าน ลบ.ม. โดยมีแผนจ่ายน้ำช่วงฤดูแล้ง 2565 ได้แก่ แผนจ่ายน้ำให้การประปาส่วนภูมิภาค เฉลี่ย 12,000 ลบ.ม./วัน ทุกวันตลอดปี เนื่องจากยังไม่มีแหล่งน้ำดิบอื่น และแผนจ่ายน้ำให้เทศบาลตำบลฉลอง เฉลี่ย 3,000 ลบ.ม./วัน ซึ่งคาดว่าจะเพียงต่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนในพื้นที่

“จากการประเมินการเจริญเติบโตของจังหวัดภูเก็ตจากการเปิดเมืองและการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มีมากยิ่งขึ้น จะต้องมีปริมาณน้ำต้นทุนที่จะใช้ประมาณ 80 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้แหล่งน้ำทั้งหมดในจังหวัดภูเก็ต ยังมีไม่ครบ มีประมาณ 76 ล้าน ลบ.ม. แต่ขณะนี้ได้ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำที่มีอยู่ อย่างอ่างเก็บน้ำคลองกะทะแห่งนี้จะมีการเสริมสันโดยใช้ฝายพับได้”

โดยจะได้น้ำอีกประมาณ 4 แสน ลบ.ม. มีการขยายเหมืองต่าง ๆ ที่มีอยู่ประมาณ 100 กว่าแห่ง มีการทำแก้มลิง มีการทำระบบส่งน้ำโดยใช้ระบบท่อไปให้กับพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังมีการประสานงานกับทางจังหวัด การประปาส่วนภูมิภาค ในการบริหารจัดการน้ำในช่วงหน้าฝนให้ใช้น้ำจากฝนธรรมชาติ ส่วนในหน้าแล้งให้ใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำที่กรมชลประทานดำเนินการ จึงขอให้ความมั่นใจได้ว่ากรมชลประทานจะดำเนินการให้น้ำเพียงพอกับคนภูเก็ตทั้งหมด พร้อมกับนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเข้ามา

และนอกจากการพัฒนาในเรื่องแหล่งน้ำแล้ว ควรจะมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ แก่พี่น้องประชาชนด้วย ทั้งในเรื่องการออกกำลังกาย สันทนาการ รองรับนักท่องเที่ยวที่มาดูความสวยงามและความสะดวกสบายจากการมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ซึ่งจะประสานกับการปกครองส่วนท้องถิ่น และเทศบาล ในการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์ ทั้งในเรื่องของเส้นทาง และห้องน้ำ เป็นต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวสบายใจว่าคนที่มาท่องเที่ยวจะมีสาธารณูปโภครองรับ ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 1 ปี