สภาองค์กรของผู้บริโภค นำทีมพันธมิตรค้านรัฐรับซื้อไฟฟ้า สปป.ลาว 1,500 MW

สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่น 3 ข้อเรียกร้อง ค้านรัฐ รับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว จาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์ เหตุไฟฟ้าในประเทศล้นเกินความต้องการ

วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากกรณีที่เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้อนุมัติการปรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2018) และแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018 Rev.1) ให้สอดคล้องกันในช่วงปี 2564-2573 หรือ 10 ปีแรกของแผน

โดยไม่ได้มีการแถลงข่าวถึงมติที่ประชุมต่อสื่อมวลชนและประชาชน เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเนื้อหาสาระสำคัญของแผนดังกล่าวคือ การลดสัดส่วนไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากลงจาก 1,900 เมกะวัตต์ เหลือเพียง 700 เมกะวัตต์ และเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมและพลังงานน้ำจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้ามาแทน พร้อมเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม โซลาร์ทุ่นลอยน้ำ และพลังงานลมให้เร็วขึ้น

และเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2564 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้เห็นชอบขยายกรอบปริมาณรับซื้อไฟฟ้าภายใต้บันทึกความเข้าใจระหว่างไทย และ สปป.ลาว เรื่องความร่วมมือในการพัฒนาไฟฟ้าจาก 9,000 เมกะวัตต์ เป็น 10,500 เมกะวัตต์ หรือเพิ่มขึ้นอีก 1,500 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบอัตราการรับซื้อค่าไฟฟ้าจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1) เขื่อนน้ำงึม 3 กำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.8934 บาทต่อหน่วย 2) เขื่อนปากแบง กำลังการผลิต 912 เมกะวัตต์ ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.7935 บาทต่อหน่วย และ 3) เขื่อนปากลาย กำลังการผลิต 770 เมกะวัตต์ ในอัตราค่าไฟฟ้าที่ 2.9426 บาทต่อหน่วย

โดยมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในร่าง Tariff MOU โครงการน้ำงึม 3 โครงการปากแบง และโครงการปากลาย ที่ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้ ต้องไม่กระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้า

นอกจากนี้ กพช.ได้พิจารณาเห็นชอบให้บรรจุโครงการ LNG Terminal พื้นที่ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 [T-3] ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโครงการรับซื้อก๊าซจากบริษัทเอกชนเพื่อนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า โดยมีกำลังการแปรสภาพ เป็นก๊าซ 10.8 ล้านตันต่อปี (ขยายได้ถึง 16 ล้านตันต่อปี) ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อความมั่นคงของประเทศ

โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการ เพื่อให้โครงการแล้วเสร็จได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ตลอดจนดำเนินการกำกับดูแลและบริหารจัดการ LNG Terminal ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับการจัดหา LNG ของประเทศนั้น

วันนี้ (16 พฤศจิกายน 2564) ผศ.ประสาท มีแต้ม ประธานคณะอนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า จากการติดตามของคณะอนุกรรมการ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง พบว่า มติ กบง. และ กพช. เกี่ยวกับการปรับแผน PDP2018 Rev.1 โดยการเพิ่มสัดส่วนปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว และบรรจุโครงการ LNG Terminal ไว้ในแผนโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาตินั้น ถูกดำเนินการด้วยความเร่งรีบไม่มีการเปิดเผยข้อมูลด้วยความโปร่งใสต่อสาธารณะและไม่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจและความต้องการใช้พลังงานของประชาชน อีกทั้งเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชนที่จะต้องจ่ายเงินให้กับการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ที่ล้นเกินจำเป็นในระบบมาตลอด

“ในปี 2564 ประเทศไทยมีไฟฟ้าล้นในระบบกว่า 10,000 เมกะวัตต์ จนทำให้โรงไฟฟ้าฟอสซิลขนาดใหญ่อย่างน้อย 8 โรงต้องหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ประชาชนต้องแบกภาระ ค่าความพร้อมจ่าย ราวปีละ 22,000 ล้านบาทจ่ายให้กับกลุ่มทุนโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ ซึ่งใช้พลังงานฟอสซิล จึงตั้งคำถามไปยัง กบง.และ กพช. ว่าเหตุใดจึงต้องบรรจุแผนโครงการ LNG Terminal ซึ่งเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าด้วยก๊าซธรรมชาติ ทั้งที่ปริมาณไฟฟ้าสำรองของประเทศล้นเกิน และไม่มีความจำเป็นต้องสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มอีก” ผศ.ประสาท กล่าว

นายนิวัตน์ ร้อยแก้ว ตัวแทนเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ระบุว่า ประชาชนใน 8 จังหวัดของภาคอีสานที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ได้รับผลกระทบข้ามพรมแดนจากการสร้างเขื่อนตอนบนในจีนทั้ง 11 แห่ง และเขื่อนไซยะบุรี ที่ทำให้ระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและความหลากหลายทางชีวภาพเสียหายอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประจักษ์และรับรู้กันทั่วโลก

โดยยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาหรือลดผลกระทบอย่างจริงจังจากรัฐบาลและเจ้าของโครงการเขื่อนต่าง ๆ ดังนั้น การที่ กพช.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนทั้ง 3 แห่งจาก สปป.ลาว ในสภาวะที่ประเทศไทยมีไฟฟ้าสำรองมากกว่าร้อยละ 50 นั้น ยิ่งตอกย้ำว่านโยบายของรัฐด้านพลังงานไฟฟ้ายังเดินหน้าตามระบบเดิม และไม่คิดเรื่องพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้เพิกเฉยต่อการรับฟังเสียงของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

“การประกาศรับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว นับเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนที่ต้องแบกรับทั้งภาระค่าไฟฟ้าและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนท้องถิ่น และขอย้ำว่าเขื่อนไม่ใช่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เพราะมีต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมสูงที่ไม่เคยถูกคำนวณภาระต้นทุนภายนอกที่ทุกคนต้องจ่าย” นิวัตน์กล่าว

สภาองค์กรของผู้บริโภคและเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง จึงมีข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาดังนี้

1) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเรียกประชุม กบง. เพื่อทบทวนการทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันตามเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และควรดำเนินการโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงกลุ่มผู้บริโภคด้วย

2) ให้ กพช.ทบทวนและปรับปรุงร่างต้นแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power purchase agreement : PPA) เพื่อลดหรือยกเลิกเงื่อนไขการรับซื้อไฟฟ้าที่ระบุว่า “ไม่มีการผลิตก็ต้องจ่าย (take-or-pay) ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเกินสมควรให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

3) ให้คณะรัฐมนตรีชะลอการตัดสินใจใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำจากประเทศลาวและการดำเนินโครงการ LNG Terminal จนกว่าจะมีการดำเนินงานตามข้อเสนอที่ 1 และ 2 เพื่อให้มีจัดตั้งกลไกในการแก้ไขปัญหาผลกระทบข้ามพรมแดนกรณีเขื่อนแม่น้ำโขงระหว่างรัฐในภูมิภาคแม่น้ำโขงก่อนการตัดสินใจที่จะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น