“แจสเบอร์รี่” ยันเป็นเครื่องหมายการค้า ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ข้าวไรซ์เบอรี่

“แจสเบอร์รี่” ยันเป็นเครื่องหมายการค้า ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ข้าวไรซ์เบอรี่ เตรียมบุกตลาดพาสต้าสหรัฐฯ จี้รัฐเร่งแก้ธุรกิจ Start-up ติดปัญหาเข้าถึงแหล่งเงินทุน

นายปีตาชัย เดชไกรศักดิ์ กรรมการบริษัท สยามออร์แกนิค จำกัด และบริษัทแจสเบอร์รี่ จำกัด เปิดเผยว่า จากที่บริษัทผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ แจสเบอร์รี่ ทำให้เกิดความสับสนว่าแจสเบอร์รี่คือข้าวพันธุ์เดียวกับไรซ์เบอร์รี่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) จดลิขสิทธิ์เอาไว้ ซึ่งตามกฎหมายไม่สามารถนำคำว่าไรซ์เบอร์รี่เป็นเครื่องหมายการค้าได้อีก

ทั้งนี้ ความสับสนดังกล่าวส่งผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ของบริษัท ลูกค้าทั้งในและต่างประเทศสอบถามเข้ามาจำนวนมาก เนื่องจากปัญหาลิขสิทธิ์เป็นเรื่องสำคัญ ที่ผู้บริโภคให้ความสนใจและมีผลต่อการคัดสินใจเลือกซื้อ ดังนั้นเพื่อให้เกิดความกระจ่าง บริษัทจึงหารือกับมหาวิทยาลัยเกษตร ให้ยืนยันร่วมกันว่าบริษัทสามารถใช้แจสเบอร์รี่ เป็นเครื่องหมายทางการค้าต่อไปได้

“นอกจากข้าว ผลิตภัณฑ์ของบริษัท ยังมีชาเบอร์รี่ และอื่นๆอีกมาก ที่เป็นสินค้าแปรรูปจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่บริษัทรับซื้อจากเกษตรกรในเครือข่าย กว่า2,000 ครอบครัวในภาคอีสาน แต่ละปีจะได้ผลผลิตประมาณ 700-800 ตัน ทั้งหมดจะเป็นข้าวนาปี ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และเป็นข้าวอินทรีย์ ที่ปัจจุบันสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งในปี 61 จะสามารถตรวจได้ถึงต้นทางตัวเกษตรกร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงระบบ “นายปีตาชัย กล่าว

นายปีตาชัย กล่าวว่า ข้าวที่ได้จะนำมาแปรรูปขายในประเทศในรูปของข้าวสาร แต่ส่วนใหญ่จะส่งออก ตลาดที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรปหรืออียู โดยมีรายได้ประมาณปีละ 20 ล้านบาท แต่ในปี 61 บริษัทจะขยายตลาดส่งออกสหรัฐฯ ให้มากขึ้นในสินค้าพาสต้า หรือเส้นข้าว ที่ทำจากข้าวไรซ์เบอร์รี่ คาดว่าจะสร้างยอดขายได้ถึง 100 ล้านบาทในปี 63 ทำให้รายได้รวมของบริษัทแตะปีละ150ล้านบาทได้ตามเป้าหมาย

“บริษัท แจสเบอร์รี่ นี้ถือว่าอยู่ในกลุ่มของสตาร์ทอัพ ที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตสูงจากความต้องการอาหารปลอดภัยของผู้บริโภคทั่วโลก ซึ่งในส่วนของวัตถุดิบ เกษตรกรในเครือข่ายพร้อมจะผลิตเพื่อป้อนบริษัท แต่ ปัญหาที่บริษัทไม่สามารถขยายตลาดได้อย่างเต็มที่เพราะเงินลงทุนไม่พร้อม ส่วนหนึ่งเพราะไม่สามารถกู้ผ่านโครงการสตาร์อัพของรัฐบาลได้แม้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะให้การสนับสนุน แต่ก็มีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก โดยเฉพาะบริษัทต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งบริษัทไม่มี และไม่สามารถใช้รายได้ค้ำประกันได้ หลายบริษัทสตาร์ทอัพ มีปัญหาเรื่องนี้ และทำให้โครงการของรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลควรพิจารณา” นายปีตาชัย กล่าว

นอกจากนี้ในส่วนของข้าวไรซ์เบอร์รี่ของไทยที่ปัจจุบันยังไม่มีการจดลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ ถือว่าเป็นการเสียโอกาสทางการค้าอย่างยิ่ง ในขณะที่จีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯและอียูได้จดลิขสิทธิ์ไปแล้ว ดังนั้นเนื่องจากที่ไทยมีนวัตกรรมทางสินค้าเกษตรอีกจำนวนมากที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในอนาคต จะทยอยออกสู่ตลาด รัฐบาลควรจะพิจารณาเรื่องลิขสิทธิ์ในต่างประเทศด้วย เพราะการให้เอกชนดิ้นรนเพื่อดำเนินการเองจะเกิดปัญหาการเป็นผู้ครอบครองรายเดียวได้ อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก หน้าที่การจดลิขสิทธิ์เหล่านี้ควรจะเป็นของผู้ลงทุนวิจัยที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์สูงสุด

นายอภิชาติ วรรณวิจิตร ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว กล่าวว่า คำว่า Trademark นั้นมีความเชื่อมโยงหลายมิติและถูกสร้างด้วยแนวคิดสร้างพันธุ์ข้าวตามความต้องการตลาดในอนาคต และพันธุ์ข้าวถูกสร้างไว้ล่วงหน้าเพื่อการพัฒนาโดยมีแนวคิดมุมมองข้าวสีขาว (ข้าวกล้อง) และข้าวสี (ม่วง-แดง) ซึ่งมีคุณสมบัติมีสารต้าอนุมูลอิสระ ทั้งนี้ หนึ่งในตัวอย่าง 2 พันธุ์ที่โดดเด่นคือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ซึ่ง วช.ให้การสนับสนุนมาโดยตลอด และร่วมกันวิจัยโดยจะพัฒนาข้าวจะทำอย่างไรให้ได้คุณภาพและมูลค่าดีที่สุด และจะเห็นได้ว่าหนึ่งงานวิจัยสร้างมูลค่าได้หลายล้านบาท ดังนั้น เมื่อเกิดจากการร่วมกันหลายหน่วยจึงอาจเกิดประเด็นปัญหาทางการค้าและพันธุ์พืช ซึ่งกรณีนี้พันธุ์พืชคือ วช. และแบรนด์เนม คือ มก. ทำให้เกิดปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งหากต้องไปจดแบรนด์ในต่างประเทศเพราะกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชของไทยยังไม่ครอบคลุม อย่างไรก็ดี เบื้องต้น ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวได้หารือกับกรมทรัพย์สินทางปัญญามาโดยตลอดต่อประเด็นปัญหา รวมถึงปัญหาการจดเทรดมาร์คผ่านพิธีสารมาดริด ที่จะสามารถลดขั้นตอนการจดทะเบียนต่างประเทศเป็นที่เดียวผ่านกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้เริ่มดีเดย์ไปแล้วเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากว่าเป็นเรื่องใหม่ของไทย ผู้ประกอบการไม่ทราบในข้อนี้อย่างกว้างขวาง ซึ่งจะได้หารืออีกครั้งเพื่อไม่เป็นข้อกีดกันทางการค้า

ทั้งนี้ บ.สยามออร์แกนิคฯ เริ่มต้นจากนำข้าวไรซ์เบอรี่ไปทำธุรกิจจนประสบความสำเร็จ หลังจากนั้นได้รับทุน Start up แต่ประเด็นปัญหาเป็นนิยามคำว่า พันธุ์ข้าวและพันธุ์พืช จะเห็นว่า แจสเบอร์รี่มีคุณภาพสูงเมื่อสกัดดีเอ็นเอให้ความบริสุทธิ์สูงมาก ซึ่งนับว่าเป็นข้าวคุณภาพ และมาจากการปลูกระบบที่ดี ดังนั้น การทำความเข้าใจ ว่า “แจสเบอร์รี่” คือแบรนด์เนม จะเป็นไรซ์เบอร์รี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการพัฒนาร่วมกัน เพราะสิ่งที่อันตรายที่สุดคือพันธุ์ข้าวไทยหลุดไปจดทะเบียนที่ต่างประเทศจำนวนมาก นายอภิชาติกล่าว

ทั้งนี้ ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ผู้ให้ทุนวิจัย อธิบายว่า ผู้บริโภคและประชาชนสับสนระหว่างชื่อพันธุ์ข้าวและเครื่องหมายการค้าที่ต่างกันโดนสิ้นเชิง ซึ่งมักเป็นประเด็นปัญหาผู้ประกอบการซึ่งต้องพิจารณาหลายปัจจัยเพราะต้นทุนสูงหากต้องจดทะเบียนทางการค้า แต่เพื่อป้องกันการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและการพัฒนาพันธุ์ ต้องมีการหารือร่วมกันถึงการบริโภคที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต