ส่งออกแห่ใช้ FTA-GSP 9 เดือนทะลุ 6 หมื่นล้าน

ส่งออก

เอกชนไทยแห่ใช้สิทธิประโยชน์ FTA-GSP ส่งออก 9 เดือนแรกทะลุ 6 หมื่นล้านเหรียญ สินค้าทุเรียนไป “ตลาดจีน” นำลิ่วเบอร์ 1 ตลาดเอฟทีเอไทย-เปรูสุดฮอตคนแห่ใช้สิทธิ 100%

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) เดือนมกราคม-กันยายน 2564 มีมูลค่า 60,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 78.09% ของการส่งออกทั้งหมด โดยจะแบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) 57,221.58 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) 2,869.06 ล้านเหรียญสหรัฐ

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 57,221.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 35.13% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 78.91% โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ ภายใต้ FTA สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน มูลค่า 19,691.48 ล้านเหรียญสหรัฐ รองลงมาคือ อาเซียน มูลค่า 19,344.85 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มูลค่า 6,255.64 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มูลค่า 5,229.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และอินเดีย มูลค่า 3,528.24 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ไทย-เปรู มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ 100% รองลงมาคือ อาเซียน-จีน มีอัตราการใช้ 96.62% ไทย-ชิลี 93.76%, ไทย-ญี่ปุ่น 78.88% และอาเซียน-เกาหลี 70.89% โดยสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิสูง มีทั้งกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อาหารปรุงแต่งและเกษตรแปรรูป อาทิ รถยนต์เพื่อขนส่งของ/บุคคล ซึ่งนิยมใช้ในตลาดอาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน, รถจักรยานยนต์ ตามกรอบเอฟทีเอไทย-เปรู เครื่องซักผ้า ในกรอบเอฟทีเออาเซียน-เกาหลี, เครื่องปรับอากาศ ในกรอบอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย

สินค้าตู้เย็น ในกรอบเอฟทีเอไทย-อินเดีย สินค้าอาหารปรุงแต่ง และสุกรมีชีวิต ในอาเซียน สินค้าเนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง ในกรอบไทย-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี กุ้งปรุงแต่งและปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง ในกรอบเอฟทีเออาเซียน-ญี่ปุ่น สินค้าปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) ในกรอบเอฟทีเอไทย-ชิลี นอกจากนี้มีสินค้าผลไม้ อาทิ ฝรั่ง มะม่วง มังคุด อาเซียน, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี และทุเรียนสด ในกรอบอาเซียน-จีน เป็นต้น

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,869.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.57% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 64.65%

ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการใช้สิทธิ 2,560.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.88% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 68.27% อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 195.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.35% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 37.72% อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิ 101.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.20% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 67.37% และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิ 12.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.38% และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 64.11%


สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ GSP สูงคือ ถุงมือยาง และสินค้าประเภทอาหารปรุงแต่ง ผลไม้ เครื่องดื่ม อาทิ อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส สับปะรดกระป๋อง พืช/ผลไม้ปรุงแต่ง พืชผัก เป็นต้น