ไม้เด็ดพลิกเศรษฐกิจ “ตู่5” สปีด EEC-อุ้มเกษตร-SME

แก้ปมเศรษฐกิจโจทย์หิน ครม.บิ๊กตู่ 5 สารพัดนโยบายรอสานต่อ “ฟื้น ศก.รากหญ้า-แก้พืชผลราคาตกต่ำ-ค่าครองชีพ-SMEs-ประมูลแหล่งปิโตรเลียม-ดันส่งออก-รถไฟฟ้า-ทางคู่” ชี้ดึง “ไพรินทร์” เร่งสปีด EEC ส่วนเจ้ากระทรวงเกษตรฯ “กฤษฎา” เผยไต๋มีทีเด็ดนโยบายเกษตร “ชาวนา-สวนยาง-ปาล์ม” เชียร์ลั่นได้คนตรงสเป็ก ด้าน รมต.ใหม่ฟิตจัด พร้อมทำงานทันทีหลังถวายสัตย์ปฏิญาณ

แม้จะประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ตั้งแต่ 24 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา แต่การเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของรัฐมนตรีใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งจะมีขึ้นหลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ 30 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ช่วงรอยต่อก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่ สาธารณชนต่างจับตามองและรอดูนโยบายและแนวทางการทำงานของรัฐมนตรีใหม่กระทรวงเศรษฐกิจสำคัญ ๆ อย่างกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม เกษตรฯ พลังงาน รวมทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ฯลฯ

เพราะแม้เวลานี้เศรษฐกิจในภาพรวมจะดีขึ้น แต่หลายภาคส่วนยังมีปัญหา โดยเฉพาะชุมชนท้องถิ่น เกษตรกร ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ราคาสินค้ากับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น เป็นต้น ขณะเดียวกันการผลักดันการส่งออก การท่องเที่ยว โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการล้วนเป็นงานสำคัญ ที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนภายในประเทศ

“สนธิรัตน์” ดันเศรษฐกิจฐานราก

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ ตนจะเข้าทำงานในกระทรวงพาณิชย์วันที่ 1 ธ.ค. 2560 ทันที เพราะมีงานสำคัญหลายเรื่องต้องทำเร่งด่วน แต่ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการกับนางสาวชุติมา บุณยประภัศร รมช.พาณิชย์ ถึงแนวทางการทำงานและการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากแล้ว จะเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจมหภาคที่เข้มแข็งอยู่แล้ว

นอกจากนี้จะเรียกประชุมผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์หารือแนวทางในการทำงาน เช่น การดูแลค่าครองชีพ ราคาสินค้า เกษตรกร เป็นต้น ส่วนการผลักดันการส่งออกจะหารือสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและทูตพาณิชย์ทั่วโลกเพื่อมอบนโยบายต่อไป

“สมชาย” หนุนพัฒนา SMEs

นายสมชาย หาญหิรัญ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า จะเริ่มเข้าทำงาน 1 ธ.ค.เช่นเดียวกัน โดยภารกิจที่เคยได้รับมอบหมายครั้งที่ดำรงตำแหน่งผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม ยังดำเนินการต่อคือการเตรียมมาตรการช่วยเหลือ SMEs ทั้งระบบ การเชื่อมโยงนโยบายรัฐกับชุมชนเพื่อสร้างรายได้ ด้วยการพัฒนา SMEs ควบคู่กันไป และนำนโยบาย Conected Industries ของกระทรวง METI ญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย ให้รายเล็กกับรายใหญ่เชื่อมกัน ส่วนภารกิจนอกเหนือจากนี้ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม จะมอบหมายให้เพิ่มเติม

“ศิริ” ลุยเปิดประมูลปิโตรเลียม

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานเปิดเผยว่า ในส่วนของ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน มีโครงการ แผนงาน หลายภารกิจใหญ่รอการสานต่อ เช่น การเปิดประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ การเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ หรือรอบที่ 21 ที่ล่าช้ามานานมาก รวมถึงการอนุมัติการผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปเสรี การปรับแผนสำคัญด้านพลังงานอย่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ของประเทศ หรือแผน PDP (Power Development Plan) หลังพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าเปลี่ยนไปอย่างมาก และมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ เข้ามาส่งผลกระทบต่อภาพรวมไฟฟ้าของประเทศ

เร่งประมูลรถไฟฟ้า-ทางคู่

สำหรับกระทรวงคมนาคมซึ่งปรับเปลี่ยน รมช.จากนายพิชิต อัคราทิตย์ เป็นนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร อดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. คาดว่าจะเข้ามาดูแลหน่วยงานเดิมที่นายพิชิตกำกับดูแล อาทิ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ปัจจุบันมีโครงการเร่งด่วนในแผนปฏิบัติการปี 2559-2561 รวม 51 โครงการ วงเงิน 2.39 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นรูปธรรมในปี 2561 ได้แก่ รถไฟฟ้า 9 สาย มีสีน้ำเงิน ต่อขยายบางแค-พุทธมณฑลสาย 4, สีเขียว สมุทรปราการ-บางปู, สีเขียว คูคต-ลำลูกกา, สีส้ม ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์, สีม่วง เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สีแดง ตลิ่งชัน-ศิริราช-ศาลายา, สีแดง รังสิต-ธรรมศาสตร์, สีแดง missing link และแอร์พอร์ตลิงก์ต่อขยายพญาไท-ดอนเมือง ส่วนระบบรถไฟฟ้ารางเบามี 4 โครงการ ที่ จ.ภูเก็ต เชียงใหม่ โคราช และขอนแก่น

ทางด่วน 3 สายทาง วงเงิน 62,711.97 ล้านบาท ได้แก่ กะทู้-ป่าตอง วงเงิน 13,916 ล้านบาท, ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือเกษตร-นวมินทร์-วงแหวนตะวันออก 17,551 ล้านบาท และพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนตะวันตก 31,244 ล้านบาท ทางคู่เฟส 2 และทางคู่สายใหม่ 9 เส้นทาง 471,217.46 ล้านบาท คือ ปากน้ำโพ-เด่นชัย, จิระ-อุบลราชธานี, ขอนแก่น-หนองคาย, ชุมพร-สุราษฎร์ธานี, สุราษฎร์ธานี-สงขลา, หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์, เด่นชัย-เชียงใหม่, เด่นชัย-เชียงของ และบ้านไผ่-นครพนม รถไฟความเร็วสูง 4 เส้นทาง 776,310 ล้านบาท สายกรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-ระยอง, กรุงเทพฯ-พิษณุโลก และกรุงเทพฯ-โคราช รถไฟสายสีแดง missing link 44,157 ล้านบาท

“ไพรินทร์” หัวหอก EEC

“ที่สำคัญการปรับเปลี่ยน รมช.ครั้งนี้ รัฐบาลต้องการเร่งรัดโครงการ EEC ให้เดินหน้าโดยเร็ว นอกเหนือจากโครงการย่อย 103 โครงการ วงเงิน 745,710 ล้านบาท ที่อยู่ในแผนงาน”

โครงการอื่น ๆ มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 226,000 ล้านบาท จะให้เปิดประมูลต้นปี 2561 การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 วงเงิน 35,099.54 ล้านบาท พัฒนาสถานีมักกะสัน 140 ไร่ กว่า 8 หมื่นล้านบาทให้เป็นเกตเวย์ EEC การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ 218 ไร่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจและสมาร์ทซิตี้ที่ ปตท.ได้เคยศึกษาไว้ ฯลฯ นอกจากนี้จะเร่งจัดซื้อรถเมล์ NGV 489 คัน วงเงิน 4,020 ล้านบาท ที่ ขสมก.จะเปิดยื่นซองครั้งที่ 8 วันที่ 7 ธ.ค.นี้ หลังล้มประมูลไปแล้ว 7 ครั้ง และจัดหารถเมล์ไฟฟ้า 200 คัน วงเงิน 2,272 ล้านบาท

ตั้ง 3 รมต.เกษตรมาถูกทาง

ด้านนายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า ยังไม่ขอพูดถึงแนวนโยบายในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ แต่จะมีทีเด็ดนโยบาย เพราะเข้าใจปัญหาด้านการเกษตรดี เนื่องจากตนเป็นลูกหลานเกษตรกรเช่นกัน ต้องรอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนรับตำแหน่ง จากนั้นมีกำหนดเข้ากระทรวงเกษตรฯ ในวันที่ 1 ธ.ค. 60 เวลา 09.00 น.

ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรฯเปิดเผยว่า รมว.เกษตรฯคนใหม่มาจากสายการปกครองอาจเน้นการบูรณาการระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับหน่วยงานท้องถิ่น เนื่องจากกระทรวงเกษตรฯ เป็นกระทรวงใหญ่ การดำเนินงานที่ผ่านมาค่อนข้างล่าช้าและไม่ลงลึกถึงตัวเกษตรกรในพื้นที่ นอกจากนี้ส่งผลดีต่อการจัดการปัญหาม็อบเกษตรกร ส่วนแผนงานและนโยบายที่ต้องขับเคลื่อนต่อ อาทิ การบริหารจัดการน้ำ เกษตรแปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ การแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ฯลฯ

ขณะที่ รมช.เกษตรฯอีก 2 คนที่จะมาช่วยงาน อย่างนายลักษณ์ วัจนานวัช เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงินและการเกษตร จะช่วยดูแลปัญหาหนี้สินเกษตรกรได้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร จะมาสานต่องานด้านเกษตรผสมผสาน ทฤษฎี 5 ประสาน โครงการในพระราชดำริ และการขับเคลื่อนเกษตรพอเพียง

“ชาวนา-สวนยาง” ยกธงเชียร์

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่ามั่นใจใน ครม.ชุดใหม่ โดยนายกฤษฎาเคยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จะทำให้การดำเนินงานในภาพรวมกระทรวงเกษตรฯ ดีขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้านข้าว สามารถสานต่อนโยบายและขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ทันที ส่วน รมช.ลักษณ์ วัจนานวัช เคยเป็นผู้บริหารธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คาดหวังว่าจะทำให้การดำเนินงานระหว่างกระทรวงเกษตรฯกับ ธ.ก.ส.คล่องตัวขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเงินเกี่ยวกับเกษตรกร ซึ่งที่ผ่านมามีข้อติดขัด

นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและสวนปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดภาคใต้ (คยป.) กล่าวว่า เท่าที่ดูประวัติ นายกฤษฎาเป็นคนลุยงานมาตลอด ทั้งนี้ เครือข่ายชาวสวนยางมีแผนจะเดินทางไปให้กำลังใจ รมว.เกษตรฯ และจะนำยุทธศาสตร์ยางไปพูดคุย เพื่อให้การขับเคลื่อนเรื่องยางเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

“นอกจากนี้ชาวสวนยางชื่นชอบนายวิวัฒน์ เนื่องจากเป็นคนที่ทำงานในภาคเกษตรมาโดยตลอด และยังเป็นประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ทำงานตามพระราชดำริในหลวง รัชกาลที่ 9 ครม.นี้ได้คนที่เคยเป็นปราชญ์ชาวบ้าน จะเสริมทัพให้ภาคเกษตรไทยเข้มแข็งขึ้น”

รักษาระดับเติบโตท่องเที่ยว

ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามองว่า กระทรวงการท่องเที่ยวฯไม่มีปัญหาน่าห่วง ที่ผ่านมาภาคท่องเที่ยวไทยมีอัตราการเติบโตดี ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ โจทย์ใหญ่นับจากนี้น่าจะเป็นการขับเคลื่อนให้รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องได้อย่างไร จะรักษาอัตราการเติบโตของรายได้ให้สูงกว่าจำนวนนักท่องเที่ยวเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาได้อย่างไร สำหรับนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รมว.ท่องเที่ยวฯคนใหม่ ทุกฝ่ายเชื่อในฝีมือ เนื่องจากเคยผ่านงานและมีส่วนในการริเริ่มผลักดันนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวระดับต่าง ๆ มาก่อน

ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อไปยังนายวีระศักดิ์ สอบถามถึงแนวทางในการบริหารอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากนี้ไป ได้รับแจ้งว่ายังไม่สะดวกให้ข้อมูล จะชี้แจงรายละเอียดต่าง ๆ หลังการถวายสัตย์ปฏิญาณ

“ประสาร-บรรยง” ให้เร่งแก้ ศก.

ขณะที่นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ มองว่า ครม.ประยุทธ์ 5 มีคนเก่งหลายคนร่วมงาน ควรให้กำลังใจ เพราะรัฐบาลมีโจทย์การบ้านใหญ่สำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต้องค่อย ๆ ทำ และทำดี ๆ อาจจะเริ่มต้นอะไรได้บ้าง แต่อย่าคาดหวังสูงนายบรรยง พงษ์พานิช อดีตกรรมการ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การปรับ ครม.ประยุทธ์ 5 ภาพรวมทีมรัฐมนตรีออกมาค่อนข้างดี สำหรับโจทย์สำคัญในประเด็นเศรษฐกิจที่อยากให้เร่งแก้ไขคือ การให้ความสำคัญกำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไทย เพราะถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ