อียูติงไทยแลนด์ 4.0 ไม่ไปไหน! ฟาก”เจโทร”แนะอีอีซีจะรุ่ง ต้องลดขั้นตอนศุลกากร-หนุนทุนท้องถิ่น

วันที่ 20 กรกฎาคม 2560 ผู้สื่อข่าวประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าเเละพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD จัดเวทีประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2560 ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ โดยการประชุมในช่วงที่ 6 ว่าด้วยเรื่อง อุปสรรคเเละโอกาสสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนของเอเชีย

ทั้งนี้ ที่ประชุมระบุว่า เอเชียกำลังอยู่ในห้วงของการเติบโตเป็นพิเศษทางการค้าเเละการลงทุน ดังนั้น การพัฒนาในการจัดการกับความต้องการที่เร่งรัดของประเทศที่กำลังพัฒนา ย่อมเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพิสูจน์เเละกำหนดอนาคตของภูมิภาค

@โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนสำคัญหนุนการเติบโตเศรษฐกิจ

นายนาโอยูกิ โยชิโนะ ตัวแทนจากเอดีบี ญี่ปุ่น กล่าวถึงมาตรการด้านการเติบโตของการค้าเเละการลงทุนว่า แบ่งออกได้ดังนี้ 1. การเติบโตอย่างยั่งยืนของเอเชียนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐานฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา ความเสมอภาคในสังคม 2. การลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ 3. ประเทศนั้นๆ จะต้องมีการเมืองที่มั่นคง ประเทศมีความปลอดภัย 4. มีความมั่นคงทางระบบเศรฐกิจในระดับมหภาค 5. มีการลงทุนด้านการศึกษา เเละสุขภาพ รวมไปถึงการเปิดการค้าเสรี การลงทุน 6. หลักธรรมภิบาลถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง 7. ยึดคติไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และ 8. ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนด้านการพัฒนา

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐานถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งพบว่าในภูมิภาคนี้ยังไม่เเข็งเเกร่ง ดังนั้น ควรมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยภาคเอกชนควรเข้ามาเเสดงความคิดเห็นเเละให้ข้อเสนอเเนะ ส่วนภาครัฐต้องเข้ามามีส่วนในเรื่องของการอนุมัติโครงการต่างๆ นอกจากนี้ การวิเคราะห์หรือตรวจสอบโครงการก็ควรทำในระดับที่สามารถเจาะลึกลงไปได้

“หากโครงสร้างพื้นฐานของเราแข็งแกร่ง มีระบบจัดการที่ดีขึ้น รายได้ของเราก็อาจเพิ่มขึ้นด้วย ไม่ว่าจะมาจากการสร้างระบบรถไฟ การเข้าถึงเเละเชื่อมโยงกัน ทั้งหมดนี้อาจทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น เงินที่ได้ก็จะหมุนเวียนเป็นระบบกลับเข้ามาสู่ที่เดิม ขึ้นอยู่ที่ว่ารัฐบาลเเต่ละประเทศจะเอาไปบริหารจัดการอย่างไรให้เกิดผลกับประชากร อาจจะมองหาเอสเอ็มอีเเล้วสนับสนุนก็ได้”เขากล่าว และว่า อีกเรื่องที่สำคัญ คือระบบการศึกษา ที่ไม่ใช่เพียงเเค่พัฒนาระบบเท่านั้น ผู้คนในเเต่ละภูมิภาคควรได้รับการพัฒนาไปด้วย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น เปรู กัมพูชา ที่ล้วนลงทุนในเรื่องการศึกษา ส่งผลให้คนในประเทศมีศักยภาพที่ดีขึ้น

@มาตรการลดหย่อนภาษี-ไฟเขียวท้องถิ่นลงทุนสะดวกขึ้นช่วยจูงใจนักลงทุนมาอีอีซี

ด้านนายไดสุเกะ ฮิราซึกะ ตัวแทนจากเจโทร ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการนำมาตรการทางภาษีมาเป็นเเรงจูงใจ โดยยกกรณีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศหรือ เอฟดีไอ คือ บริษัทลงทุนในต่างประเทศต้องการที่จะมาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งญี่ปุ่นเองนั้นเคยพูดคุยกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถึงการริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก หรือ อีอีซี โดยญี่ปุ่นเองให้ความสนใจและกำลังศึกษา

“เราเคยออกแบบเเผนต้นเเบบที่จะเข้ามาในอีอีซี ซึ่งมีการศึกษาการใช้ถนน เส้นทางต่างๆ ดูว่าหากคุณจะเดินทางโดยการขับรถจากโรงเเรมนี้ไปอีกโรงเเรมหนึ่งต้องใช้ทางไหน แต่หากมีอะไรมาทดเเทนการขับขี่ได้ ก็ต้องมาดูว่ามีการเชื่อมต่ออย่างไรในการขนส่งระหว่างเมือง ทั้งนี้ ต้องศึกษางบประมาณที่จะนำมาใช้ด้วย”

เขากล่าวต่อว่า ในส่วนของการเก็บภาษีหากมีการลดหย่อนหรือผ่อนผันได้ จะส่งผลดีโดยตรงต่อบริษัทต่างๆ ประเทศไทยมีความสำคัญกับญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีการลงทุนในไทยมากกว่าอินโดนีเซียสองเท่า มากกว่ามาเลเซียสามเท่า จะเห็นได้ว่าญี่ปุ่นก็มองว่าประเทศไทยเป็นเเหล่งสำคัญในการลงทุน

ขณะเดียวกัน มองว่าอีกส่วนที่จะทำให้อีอีซีของไทยน่าจะประสบความสำเร็จได้ดีคือเรื่องของด่านตรวจศุลกากร ในการอำนวยความสะดวกด้วยการลดขั้นตอนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ประหยัดเวลาขึ้นได้มาก โดยมองว่าเป็นวิธีการที่ไม่ต้องใช้การลงทุนสูง แต่ได้ประโยชน์มาก

นอกจากนี้ ในเรื่องการสนับสนุนนักลงทุนท้องถิ่น ควรเอื้อให้นักลงทุนท้องถิ่นสามารถลงทุนได้โดยไม่ต้องรอการอนุมัติจากภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพียงแค่ส่งรายงานให้หน่วยงานท้องถิ่นทราบ ก็จะเป็นสิ่งที่ทำให้อีอีซีเกิดประสิทธิผล อย่างที่เซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จเมื่อครั้งที่ถูกกำหนดให้เป็นเขตอุตสาหกรรม

@เชื่อมต่อสนามบิน ดันเศรษฐกิจไร้พรมเเดน

นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการสถาบันตีนันแห่งเอเชีย เเละที่ปรึกษาสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า การทำให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้นนั้น ต้องควบคู่ไปกับการส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับโลกด้วย ปัจจุบันผู้คนเข้าถึงกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ เรือ อากาศ ส่งผลให้อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ตามมา เเละทั้งหมดนี้จะไม่ยั่งยืนหากไม่มีการจัดการปัญหา

เมื่อการเติบโตของธุรกิจขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้เกิด “ห่วงโซ่อุปทาน” คือกระบวนการที่หน่วยงานต่างๆ คน หรือเทคโนโลยีรวมตัวกัน เพื่อเคลื่อนย้ายสินค้าหรืองานบริการจากผู้จัดหาไปยังลูกค้า โดยสิ่งเหล่านี้ไม่มีภูมิภาค ไร้พรมเเดน ยกตัวอย่าง ในกัมพูชามีตลาดเอสเอ็มอีกว่า 2,800 เเห่ง อินโดนีเซียมีมากถึงหลักเเสน ถึงแม้สำหรับธุรกิจขนาดเล็กไม่มีตัวเลขชี้ชัดว่ามีรายได้เท่าไหร่ แต่จากเศรษฐกิจเห็นว่าตลาดกลุ่มนี้มีการเติบโตขึ้น เเละมีการทำธุรกิจข้ามพรมเเดนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

“รับประกันได้เลยว่า ถ้าเราทำให้ท่าอากาศยานดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา เชื่อมต่อกัน เราจะกลายเป็นโลกใหม่ การค้าระบบดิจิทัลจะมีศักยภาพสูงสุด คุณจะไปไหนก็ได้ การข้ามพรมเเดนก็จะง่ายขึ้น ในเรื่องของอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เพียงเเต่อำนวยความสะดวกด้านการค้า จะมีคนเข้ามาเชื่อมต่อระดับโลก ส่งผลดีไปถึงการขนส่งสินค้า หากเคยส่งสินค้าที่ 1 พันตันต่อวัน จะกลายเป็น 2.5 พันตันเป็นต้น”

@ไทยแลนด์ 4.0 ไปไม่ถึงไหน หากไม่สนับสนุนการศึกษา

นายรอล์ฟ ดีเตอร์ ดาเนียล จากสภาหอการค้ายุโรป กล่าวถึงมุมมองเศรษฐกิจของอียู ว่าสาเหตุที่บริษัทในยุโรปประสบความสำเร็จ คือการวิจัย และการทำงานร่วมกัน หากมีกรณีไม่สำเร็จก็ต้องศึกษาหาสาเหตุ การศึกษาเอสเอ็มอีเเสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญ มุ่งมั่นเเละพยายามในธุรกิจนั้นอย่างเต็มที่ ทั้งนี้จากการทำงานร่วมกับสภาหอการค้าไทย ทำให้เห็นความแตกต่างของสภาหอการค้าไทยเเละหอการค้ายุโรป โดยไทยมีความจำกัดด้านบุคลากร เงินทุน และเทคโนโลยี

อีกเรื่องที่สำคัญคือ “เเรงงาน” ประเทศไทยยังต้องการแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก หากไม่มีเเรงงาน การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะชะงักลง ขณะเดียวกันหากมองลงไปในนโยบายไทยเเลนด์ 4.0 ต้องเชื่อมโยงให้ดีระหว่างเครื่องจักรเเละเเรงงาน หากนำหุ่นยนต์มาใช้ทำงานแทนมากเกินไป แรงงานจะตกอยู่ในสถานะว่างงานจำนวนมาก

เขากล่าวต่อว่า การคุ้มครองนักวิจัยเเละนักพัฒนาในภาคส่วนอียูถือเป็นเรื่องสำคัญ การจะสร้างเเรงบันดาลใจต้องเข้าใจพื้นฐาน หากใช้มาตรการเกี่ยวกับภาษีมาเป็นเเรงจูงใจต้องดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ส่วนกรณีรถไฟความเร็วสูงนั้น มองว่าที่จำเป็นคือความเร็วขนาดปานกลาง ไม่ใช่ความเร็วสูง ดังนั้น จึงต้องดูตามความเหมาะสมด้วย

“อียูสนับสนุนอาเซียนได้ แต่ไม่ใช่เรื่องของเงิน เป็นเรื่องของเครื่องมือ ที่ให้พวกคุณช่วยเหลือและพัฒนาตนเอง เพื่อความก้าวหน้า โดยด้านการศึกษา สำหรับผมสำคัญมาก ไทยเเลนด์ 4.0 คงไปไม่ถึงไหน หากคุณไม่สนับสนุนการศึกษา”ตัวแทนสภากอการค้ายุโรปกล่าวสรุป