“เกษตรปลอดภัย”ร้องนายก ค้านรัฐจ่อเลิกใช้2สารเคมี

 

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย พร้อมด้วยตัวแทนเกษตรกรผู้ได้รับความเดือดร้อน จำนวน 50 คน ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจากมีกระแสข่าวว่า รัฐจะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส กับจำกัดการใช้อีก 1 ชนิด คือ ไกลโฟเสต โดยจัดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ไม่อนุญาตให้ใช้ ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้ยื่นขอขึ้นทะเบียนเพิ่ม ไม่รับต่ออายุทะเบียน ให้ยุติการนำเข้าภายในวันที่ 1 ธ.ค. 2560 และยุติการใช้สิ้นเชิง 1 ธ.ค. 2562

ภายหลังมีข่าวนี้ออกมา เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนมาก จากราคาสารดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น “พาราควอต” ที่คนทั่วไปรู้จักกันในชื่อการค้าต่าง ๆ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืช เป็นยาฆ่าหญ้าชนิดสัมผัส เผาไหม้ใบส่วนที่มีสีเขียว ส่วน “ไกลโฟเสต? หรือที่รู้จักกันในชื่อการค้าอื่น ๆ เป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชหรือยาฆ่าหญ้าชนิดดูดซึมทางใบถึงราก และสาร “คลอร์ไพริฟอส? กำจัดแมลงศัตรูพืช เกษตรกรไทยล้วนต้องพึ่งสารเคมีในการทำการเกษตร เพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น มีความหลากหลายของศัตรูพืช พืชที่ปลูกต้องเผชิญปัญหาศัตรูทั้งโรค แมลง และวัชพืชมากกว่าในเขตอื่น นอกเหนือจากลมฟ้าอากาศหรือภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายด้วย

ไทยนำเข้าสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมาใช้ในภาคเกษตรป้องกันความเสียหายของผลผลิตทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ แต่ปัญหาที่ทุกประเทศต้องเผชิญคือ มีพื้นที่เพาะปลูกจำกัด สภาพอากาศที่แปรปรวน การระบาดของศัตรูพืชเพิ่มขึ้น และปัญหาแรงงานที่หายากและมีราคาแพง เกษตรกรจำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องจักรกลสมัยใหม่ หุ่นยนต์กำจัดวัชพืช การทำเกษตรแม่นยำสูง

จากการคาดการณ์ในระยะ 33 ปีข้างหน้า ประชากรโลกจะเพิ่ม 34% เป็น 9,000 ล้านคน ในปี 2597 ทำให้ความต้องการอาหารในการบริโภคเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่พื้นที่การเกษตรทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะลดลงไปเรื่อย ๆ ดังนั้นจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ไทยมีพื้นที่การเกษตร 149 ล้านไร่ มีการทำเกษตรอินทรีย์ไม่ใช้สารเคมีประมาณ 3 แสนไร่ ในขณะที่พื้นที่ส่วนใหญ่ 148.7 ล้านไร่ มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในการผลิตสินค้าเกษตร มีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรประมาณ 17 ล้านคน สามารถผลิตสินค้าเกษตรด้านพืชที่เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและเหลือส่งออกนำรายได้กลับเข้ามาให้ประเทศ ปีละ 1.2 ล้านล้านบาท จนประเทศไทยได้รับสมญานามว่า ครัวของโลก โดยขณะนี้ต้องเป็นอาหารจากผลผลิตที่ปลอดภัย ทางออกของไทยจึงจำเป็นต้องทำการเกษตรแบบปลอดภัยเท่านั้น ทั้งการทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่และแปลงย่อย

“ทางสมาพันธ์เกษตรปลอดภัยจึงขอเสนอแนวทาง 1.กำหนดการทำเกษตรปลอดภัยตามแนวทางการผลิตมาตรฐานสากล หรือ GAP เป็นนโยบายของรัฐ โดยใช้ ม.44 เพื่อสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกจนได้ผลผลิตถึงผู้บริโภคให้เป็นอาหารปลอดภัย เป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงเกษตรฯดูแลการผลิตเกษตรปลอดภัย ตามแนวทาง GAP กระทรวงสาธารณสุขดูแลตรวจสอบให้ผลผลิตที่ปลอดภัยก่อนถึงผู้บริโภค กระทรวงพาณิชย์หาตลาดและสร้างแบรนด์ผลผลิตที่ปลอดภัย

2.ขอคัดค้านการพิจารณาประกาศยกเลิกสารเคมีเกษตร 3 ชนิดนี้ โดยใช้ ม.44 เพื่อให้ใช้ขบวนการพิจารณาข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งขณะนี้กรมวิชาการเกษตรกำลังดำเนินการอยู่ และข้อมูลเท่าที่มีการนำเสนอ ยังไม่มีข้อมูลยืนยันหนักแน่นพอ และขอให้พิจารณาผลกระทบ

หากจะยกเลิกสารเหล่านี้ โดยต้องทำการวิจัยหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และราคาใกล้เคียง 3.ห้ามนำเสนอข้อมูลบิดเบือนความจริงโดยกลุ่มองค์กรอิสระ เช่น Thai-PAN, มูลนิธิชีววิถี เป็นต้น เพราะขาดข้อมูลที่แท้จริงทางวิชาการ ทำให้เกิดความตื่นตระหนกต่อสาธารณชน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและภาพลักษณ์การส่งออกของประเทศไทย” นายสุกรรณ์กล่าว


อนึ่ง เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูงจาก 5 กระทรวง ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเสต