เอเซียโกลเด้นฯผงาดเขมร ฮุนเซนให้เกียรติเปิดโรงสี

“เอเซีย โกลเด้น ไรซ์” สยายปีกลงทุนธุรกิจ “โรงสี-ส่งออกข้าว-โรงงานผลิตแป้งข้าวเจ้า” พร้อม “ท่าเรือครบวงจร” ที่ จ.กัมปอต กัมพูชา ลั่นเตรียมขึ้นแท่นเบอร์ 1 ส่งออกข้าวเขมร จากที่ผ่านมา “ข้าวผกามะลิเขมร” ถูกขายส่งออกผ่านเวียดนามกลายเป็น “ข้าว KDM” จนรัฐบาลเขมรชักชวนให้บริษัทเข้าไปลงทุนพัฒนาพันธุ์ การส่งออก ภายใต้แหล่งกำเนิดสินค้ากัมพูชา เป็นเวลากว่า 3 ปีมาแล้วนับจากปี 2557 ที่ บริษัทเอเซีย โกลเด้นไรซ์ ได้เข้าไปลงทุนทำธุรกิจโรงสีและส่งออกข้าวในประเทศกัมพูชา

นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้นไรซ์ จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทคริสตัลไรซ์ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเอเซียโกลเด้นไรซ์ ได้เปิดดำเนินการธุรกิจโรงสีข้าวและส่งออกข้าวที่ จ.กัมปอต ประเทศกัมพูชา โดยเอเซียฯถือหุ้น 70% ร่วมกับหุ้นส่วนชาวกัมพูชา ถือหุ้น 30% เดินเครื่องผลิตข้าวมาเป็นเวลา 1 ปีเศษแล้ว โดยมีกำลังการผลิตข้าวเปลือกเฉลี่ยปีละ 300,000 ตัน ข้าวที่สีได้จะทำการส่งออกภายใต้แบรนด์ที่มีแหล่งกำเนิดสินค้ามาจากกัมพูชา

“เดิมทีเมื่อสร้างโรงสีข้าวเสร็จ ราคาข้าวในตลาดปรับขึ้นพอดี ส่งผลให้ราคาข้าวไทยและข้าวกัมพูชาใกล้เคียงกัน ทำให้การส่งออกข้าวจากกัมพูชาทำได้ไม่มากนัก แต่ปีนี้มีเป้าหมายผลักดันการส่งออกข้าวจากกัมพูชาให้ได้ 100,000 ตัน และปีหน้าจะเพิ่มขึ้นอีก อาจจะทำให้เราก้าวขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของผู้ส่งออกข้าวในกัมพูชาได้ เนื่องจากจีนได้เพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากกัมพูชาในปีนี้ถึง 200,000 ตัน และจะเพิ่มเป็น 300,000 ตันในปี 2561” นายสมบัติกล่าว

สำหรับข้าวที่ใช้ส่งออกเป็นข้าวสายพันธุ์กัมพูชา ซึ่งเดิมชาวนากัมพูชาจะขายข้าวให้กับผู้ส่งออกเวียดนาม และเวียดนามจะนำไปส่งออกอีกทอดหนึ่ง ทำให้ข้าวกัมพูชาถูกเปลี่ยนเป็นข้าวเวียดนาม ดังนั้นรัฐบาลกัมพูชาจึงชักชวนให้บริษัทเอเซีย โกลเด้นไรซ์เข้าไปช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจค้าข้าวและการลงทุนทำนาด้วยการสนับสนุนพันธุ์ข้าวที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้เริ่มทดลองปลูกไปแล้ว 3 ครอปได้ผลดี บริษัทจึงได้ส่งเสริมชาวนากัมพูชาเข้าร่วมปลูก โดยประกันการรับซื้อให้ส่วนต่างราคาสูงกว่าตลาด 2,000 บาทต่อตัน

สำหรับข้าวสายพันธุ์ใหม่ที่เข้าไปพัฒนาพันธุ์ในกัมพูชาตอนนี้ยังไม่ได้ตั้งชื่ออย่างเป็นทางการ ที่ผ่านมาบริษัททดลองปลูกลักษณะคล้ายข้าวนาปรังของประเทศไทย สามารถปลูกได้ปีละ 2-3 รอบ อัตราผลผลิตต่อไร่สูง มีคุณลักษณะเป็นข้าวที่หอม นุ่ม เมล็ดเล็ก สวยสามารถจำหน่ายได้ในราคาสูง ไม่ต่ำกว่า 1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน

“ที่ผ่านมา ข้าวเขมรตัวเองก็ไม่ได้สี แต่ส่งไปให้เวียดนามหมด ส่งผลทำให้ข้าวผกามะลิถูกขายไปเป็นข้าว KDM (Khao Dawk Mali)ของเวียดนามทางเขมรจึงมาขอให้เราเข้าไปช่วยพัฒนาให้เขมรสามารถส่งออกข้าวได้ด้วยตัวเอง พร้อมทั้งสนับสนุนด้านการลงทุนหลายอย่าง แต่บริษัทได้ทดลองเข้าไปลงทุนปลูกข้าวและมีการส่งตัวแทนคนไทยเข้าไปดูแล กฎหมายเขมรให้บริษัทคนไทยถือหุ้นได้ 49% คนเขมรถือหุ้น 51% ถ้าโอนสัญชาติไปแล้วถือ 100%” นายสมบัติกล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังได้ขยายการลงทุนตั้งโรงงานผลิตแป้งข้าวเจ้า โดยร่วมลงทุนกับกลุ่มบูรพา และนักลงทุนจากสหภาพยุโรป ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือนนี้ สามารถเปิดโรงงานอย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนนี้ซึ่งได้รับเกียรติจากทางสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชามาเป็นประธานในพิธีเปิด สำหรับแป้งฯ ที่ผลิตได้จะส่งออกไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางอัตราภาษีศุลกากร (GSP)

“โรงงานแป้งจะใช้วัตถุดิบจากโรงสี ถือเป็นการลงทุนแบบครบวงจร และได้มีการพัฒนาท่าเรือขนถ่ายสินค้าขึ้นในบริเวณเดียวกันด้วย เพื่อใช้ส่งออกข้าวและแป้งข้าว และเรายังเปิดให้บริการกับผู้ส่งออกทั่วไปได้ด้วย ซึ่งขณะนี้มีเอกชนไทยหลายรายมาใช้บริการ เช่น SCG ใช้ขนส่งปูนซีเมนต์” นายสมบัติกล่าว