ผลขึ้นภาษีสรรพสามิตดันราคาบุหรี่-เหล้าเบียร์ดึงเงินเฟ้อพ.ย.สูงขึ้น 0.99% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 11 เดือน เพิ่ม 0.66%

ผลขึ้นภาษีสรรพสามิตดันราคาบุหรี่-เหล้าเบียร์ดึงเงินเฟ้อพ.ย.สูงขึ้น 0.99% ส่งผลให้เงินเฟ้อ 11 เดือน เงินเฟ้อเพิ่ม 0.66% คาดเงินเฟ้อทั้งปี’60 เพิ่ม 0.7% “พาณิชย์” คาดการณ์เป้าเงินเฟ้อปี’61 ขยายตัว 0.6-1.6 % ชี้บัตรคนจนช่วยเพิ่มรายได้ไม่กระทบราคาสินค้า

น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือนพฤศจิกายน 2560 เท่ากับ 101.45 สูงขึ้น 0.07% เทียบกับตุลาคม 2560 และสูงขึ้น 0.99% เทียบกับพฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นการปรับตัวสูงขึ้นติดต่อกัน 4 เดือน ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) 2560 สูงขึ้น 0.66% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทางสนค.คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั้งปี 2560 จะขยายตัว 0.7% เป็นไปตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ 0.4-1.0%

สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเทียบเดือนสูงขึ้น 0.07% เป็นผลจากดัชนีหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.36% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิดเว้นก๊าซธรรมชาติ เพิ่ม 2.42% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.18%

ส่วนดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่แอลกอฮอล์ ลดลง 0.42%% สินค้าสำคัญราคาผักและผลไม้ ลดลง 2.49% โดยกลุ่มผักลดลง 5.50% กลุ่มผลไม้ลดลง 1.55%

อย่างไรก็ตาม เมื่อแยกรายการสินค้า 422 รายการ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ พบว่า สินค้าที่ราคาสูงขึ้น 119 รายการ สินค้าราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 214 รายการ และสินค้าราคาลดลง 89 รายการ

“เงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนนี้สาเหตุหลักมาจากการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 16 ก.ย.ที่ผ่านมา ถึงเดือนนี้ เข้าสู่เดือนที่ 3 ส่งผลต่อราคาสินค้ากลุ่มบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะบุหรี่ได้รับผลกระทบสูงสุด 0.08% เบียร์ 0.006% สุรา 0.0005% มีเพียงไวน์ที่ไม่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการปรับราคาจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่วนราคาผักผลไม้ และเนื้อสัตว์ เป็นการปรับลดลงตามฤดูกาล”

น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า สำนักงานฯคาดการณ์เงินเฟ้อปี 2561 ว่าจะอยู่ในกรอบ 0.6-1.6% สูงกว่าปีนี้คาดการณ์ในกรอบ 0.4-1.0% ภายใต้สมมติฐาน คือ เศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5-4.0% จากปีนี้ที่คาดการณ์ 3.0-4.0% ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเฉลี่ย 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากปีนี้ที่คาดการณ์ 45-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยน 33-35 บาท/เหรียญสหรัฐ จากปีนี้ที่คาดการณ์ 33.5-34.5 บาท/เหรียญสหรัฐ

“ส่วนผลการใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาช่วยเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน แตาไม่ได้มีผลต่อราคาสินค้า แม้ว่าจะมีสินค้ายางรายการที่จำหน่ายในร้านธงฟ้าประชารัฐ และถูกนำมาคำนวณเงินเฟ้อ แต่ก็ไม่ได้มีผลมากนัก ในอนาคตกำลังศึกษาว่าจะนำสินค้าในร้านธงฟ้า ที่มีอยู่ประมาณ 40 รายการ ราคาต่ำกว่าตลาด 10-20% มาใช้คำนวณเงินเฟ้อได้อย่างไรต่อไป” น.ส.พิมพ์ชนกกล่า