ดึงแบงก์ปล่อยกู้กองทุนน้ำมัน กางแผน 3 ปี ใช้หนี้ 2 หมื่นล้าน

Photo by SAEED KHAN / AFP

ดึง 10 แบงก์ปล่อยกู้กองทุนน้ำมันฯหลังขยายกรอบเพดานกู้ได้ 3 หมื่นล้าน ตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตร กางแผนชำระคืนภายใน 3 ปี ดอกเบี้ย 2.5-3% เริ่มทยอยชำระ มิ.ย. 65 ยืนยันสถานะเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ล่าสุดคงเหลือ 1,426 ล้านบาท ยังไหว

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2564 เห็นชอบให้กองทุนน้ำมันฯ ให้มีการเปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้ เพื่อรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ 20,000 ล้านบาท และตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) อีก 10,000 ล้านบาท รวมเป็น 30,000 ล้านบาท

เพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันเชื้อเพลิงของประเทศในช่วงภาวะวิกฤต โดยเฉพาะการดูแลราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อดูแลลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพของประชาชน

ล่าสุดได้เตรียมเชิญสถาบันการเงินประมาณ 10 แห่ง ร่วมเสนอเงื่อนไขในการปล่อยกู้ โดยมั่นใจมีอย่างน้อย 2 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสินจะเข้าร่วม

ทั้งนี้ การดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กระทรวงการคลังกำหนด ซึ่งคาดได้รับเงินกู้ไม่เกินเดือนเม.ย. 2565

ส่วนรูปแบบจะเป็นการขอโอดี ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาดปัจจุบัน ประมาณร้อยละ 2.5-3 ส่วนแผนการชำระเงินกู้ วางกรอบระยะเวลาคืนเงินกู้ทั้งหมดภายใน 3 ปี โดยจะเริ่มชำระได้ในเดือน มิ.ย. 2565 ภายหลังมาตรการอุดหนุนสิ้นสุด

สำหรับในช่วงรอยต่อ 4 เดือนในการชดเชยราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล ตามมติ กบง.และ กบน.นั้น ขอยืนยันว่ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีสภาพคล่องในการบริหารจัดการ โดยจนถึงขณะนี้สถานะกองทุนคงเหลือ 1,426 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน 22,400 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 20,974 ล้านบาท

ทั้งนี้ การพิจารณาเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานของแผนรองรับวิกฤตการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2563-2567 ซึ่งกำหนดไว้ 3 แนวทางสำคัญ คือ 1.กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีการปรับขึ้นเกินระดับที่มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งหมายถึงกรณีที่ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศสูงกว่า 30 บาท/ลิตร และราคาขายปลีก LPG เกิน 363 บาท/ถัง (15 กก.)

2.กรณีสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรุนแรง ได้แก่ ราคาน้ำมันดิบปรับขึ้นมากกว่า 5 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรลใน 1 สัปดาห์ หรือราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกปรับขึ้นมากกว่า 1 บาท/ลิตร ใน 1 สัปดาห์ และราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ เฉลี่ยมากกว่า 35 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน หรือราคา LPG ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงใน 2 สัปดาห์ รวมกันมากกว่า 1 บาท/กก.

และ 3.กรณีสถานการณ์น้ำมันเชื้อเพลิงขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชาชน โดยการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว มุ่งเน้นการอุดหนุนและชดเชยในระยะสั้นชั่วคราวอย่างมีระเบียบวินัยทางการเงินการคลังเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาได้เข้าไปมีส่วนช่วยในการแก้ไขวิกฤตผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน และเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีความผันผวน

ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ราคา LPG ได้เข้าไปอุดหนุนเพื่อตรึงราคา LPG ตามนโยบายรัฐบาลเพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพประชาชนในช่วงสถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่ช่วงปลายเดือน มี.ค.2563 ไปแล้ว 13,251 ล้านบาท

ขณะที่ในช่วงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน กองทุนน้ำมันฯได้เข้าไปตรึงราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)

ตั้งแต่เดือนต.ค.-พ.ย. 2564 โดยมีการชดเชยไปแล้วกว่า 7,211 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ประมาณการฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 28 พ.ย. 2564 มีจำนวน 1,426 ล้านบาท โดยมีวงเงินคงเหลือในบัญชีน้ำมันสุทธิ 22,400 ล้านบาท ส่วนบัญชี LPG มีวงเงินติดลบอยู่ที่ 20,974 ล้านบาท