กรมชลประทาน เตือนฝนถล่มภาคใต้ฝั่งตะวันออก 1-2 ธ.ค. นี้

กรมชลประทาน เฝ้าระวังและรับมือฝนตกหนักภาคใต้ฝั่งตะวันออกหลายพื้นที่ วันที่ 1-2 ธันวาคม นี้ ชุมพร-สุราษฎร์-ตรัง เสี่ยงน้ำล้น สั่งโครงการชลประทานพื้นที่เสี่ยง เตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่จับตาสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง

วันที่ 1 ธันวาคม 2564 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ได้มีประกาศ ฉบับที่ 6 (51/2564) ลงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 แจ้งหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่ปกคลุมภาคใต้ตอนกลางได้เคลื่อนตัวลงสู่ทะเลอันดามัน ส่งผลให้ช่วงวันที่ 1 – 2 ธันวาคม 2564 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกยังคงมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และมีฝนตกหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งนั้น

ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) พบว่ามีพื้นที่เสี่ยงและเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม บริเวณอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดระนอง จังหวัดตรัง พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ระดับควบคุม เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ อาทิ อ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น จังหวัดระนอง อ่างเก็บน้ำห้วยลึก อ่างเก็บน้ำคลองหยา อ่างเก็บน้ำบางกำปรัด และอ่างเก็บน้ำคลองแห้ง จังหวัดกระบี่ อ่างเก็บน้ำบางวาด และอ่างเก็บน้ำบางเหนียวดำ จังหวัดภูเก็ต

นอกจากนี้ ยังเตือนให้เฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่ง และน้ำท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น 0.50-1.00 เมตร บริเวณคลองชุมพร อำเภอเมืองชุมพร คลองหลังสวน อำเภอหลังสวน คลองสวี อำเภอสวี จังหวัดชุมพร คลองอิปัน อำเภอพระแสง แม่น้ำตาปี อำเภอเวียงสระ อำเภอพระแสง อำเภอพุนพิน และอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม่น้ำตรัง อำเภอรัษฎา และอำเภอวังวิเศษ จังหวัดตรัง ปัจจุบันมีน้ำหลากข้ามถนนทางหลวงหมายเลข 41 สูงประมาณ 0.30-0.80 เมตร บริเวณจุดตัดคลองหลังสวนและคลองสวี ในเขตพื้นที่อำเภอสวี อำเภอหลังสวน และอำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น จึงได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่เสี่ยง ให้ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง


และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ พร้อมบริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ควบคุม เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งพิจารณาพร่องน้ำและเร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำสายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับการขึ้น-ลงของระดับน้ำทะเล หมั่นตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารชลประทาน แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ ให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ