ราคาข้าวโพดพุ่งทำนิวไฮ โรงงานอาหารสัตว์กลับลำลดนำเข้าข้าวสาลี

ข้าวโพด

นับเป็นระยะเวลา 3 ปีแล้วที่ไทยใช้นโยบายกำหนดให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องรับซื้อข้าวโพดที่ผลิตได้ในประเทศ 3 ส่วนเพื่อแลกกับสิทธิในการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนจากตลาดโลก หรือ “มาตรการ 3 ต่อ 1”เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ผลิตแห่นำเข้าจนกระทบราคาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด

หมายความว่าหากผู้ผลิตอาหารสัตว์ซื้อข้าวโพดในประเทศ 4.5 ล้านตัน ก็จะได้รับสิทธิในการนำเข้าข้าวสาลี 1.5 ล้านตัน โดยขอความร่วมมือรับซื้อไม่ต่ำกว่า กก.ละ 8.50 บาท ล่าสุดสถานการณ์ราคาข้าวโพดขยับขึ้นไปถึง กก.ละ 11 บาท สูงสุดในรอบ 13 ปี ส่งผลต่อการใช้มาตรการ 3 ต่อ 1

โดยรายงานข้อมูลจากกรมศุลกากร ระบุว่า ปริมาณการนำเข้าข้าวสาลี ในช่วง 10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) 2564 มีปริมาณ 1.13 ล้านตัน ลดลง 70.85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 1.59 ล้านตัน

และยอดการนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศตามมาตรการ 3 ต่อ 1 ปรับลดลงต่อเนื่องตลอด 3 ปีที่ผ่านมา จากปี 2561 เคยมียอด 1.83 ล้านตัน, ปี 2562 ปริมาณ 1.70 ล้านตัน, ปี 2563 ปริมาณ 1.84 ล้านตัน และล่าสุด 10 เดือนปีนี้เหลือเพีง 1.13 ล้านตันเท่านั้นเอง

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564

มีนายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้พิจารณาว่ายังคงใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 เพื่อดูแลเกษตรกรต่อเนื่องในปี 2565 แม้ว่าระดับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นแล้วก็ตาม พร้อมทั้งกำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาข้าวโพดในประเทศ

อีกด้านหนึ่ง เพื่อเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนผู้ผลิตอาหารสัตว์ที่ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนราคาวัตถุดิบปรับสูงขึ้น กรม ได้ประสานให้มีการรับซื้อวัตถุดิบข้าวเปลือกและข้าวกล้องภายในประเทศที่กำลังออกสู่ตลาดปริมาณ 52,000 ตันลอตแรก

โดยขอความร่วมมือรับซื้อข้าวเปลือก ราคา กก.ละ 8.00 บาท ส่วนข้าวกล้องกก.ละ 11 บาท ซึ่งหลังจากนี้มีเป้าหมายจะเพิ่มการรับซื้อให้ได้ถึง 150,000 ตัน ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยให้ยังคงจำหน่ายอาหารสัตว์ได้ในระดับราคาเดิมได้”

ทางสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย รายงานต่อ นบขพ. ว่า ความต้องการใช้ปีนี้มีปริมาณ 8.38 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีปริมาณ 8.34 ล้านตัน ขณะที่ ผลผลิต .77 ล้านตัน ลดลง 0.60%

และล่าสุด ราคาจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จ.เพชรบูรณ์ ข้าวโพดความชื้น 14.5% ในเดือน พ.ย. กก.ละ 9.60 บาท จากเดือน ต.ค. 2564 กก.ละ 9.84 บาทมีแนวโน้มว่าปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด 450,000 ครัวเรือน จะได้รับอานิสงส์ จากราคาตลาดที่ขยับขึ้นสูงเกินกว่า “ราคาประกันรายได้”ที่กำหนดไว้ กก.ละ 8.50 บาท ประหยัดงบ1,908.51 ล้านบาท

ซีพีอาหารสัตว์ เบอร์ 1 ผลิต ‘อาหารกุ้ง’

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ได้พิจารณามาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลีสำหรับกลุ่มผู้ผลิตอาหารกุ้ง ประจำปี 2565 ซึ่งจะได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมาตรการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนต่อการรับซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน ให้กับผู้ประกอบการ 6 ราย รวมปริมาณข้าวสาลีที่ได้รับการยกเว้น 203,600 ตัน

คิดเป็นกำลังการผลิตอาหารกุ้ง 1.30 ล้านตัน ซึ่งเป็นไปตามที่สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยยื่นหนังสือต่อกรมประมง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ทั้งนี้ ปริมาณดังกล่าวเป็นปริมาณที่สูงขึ้นหากเทียบกับปี 2564 ที่มีการขอรับการยกเว้น 190,000 ตัน และมีการนำเข้ามาจริงเพียง 63,657.69 ตัน

สำหรับรายชื่อผู้ได้รับการยกเว้น 6 ราย ประกอบด้วย 1) บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหารสัตว์ กำลังการผลิต 900,000 ตัน ขอยกเว้นปริมาณ 130,000 ตัน เทียบเท่ากับปี 2564 ซึ่งขอยกเว้น 130,000 ตัน นำเข้าจริง 60,000 ตัน 2) บจก.ไทยยูเนี่ยนฟีดมิลล์ กำลังการผลิต 184,000 ตัน มีปริมาณที่ขอยกเว้น 36,800 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขอยกเว้น 24,000 ตันซึ่งไม่มีการนำเข้าจริง

3) บจก.อินเทคค์ฟีด กำลังการผลิต 125,000 ตัน มีปริมาณการขอยกเว้น 25,000 ตัน เทียบเท่ากับปีก่อน

4) บจก.ทีอาร์เอฟ ฟีดมิลล์ กำลังการผลิต 48,000 ตัน มีปริมาณการขอยกเว้น 4,800 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ขอยกเว้นในปริมาณ 4,000 ตัน และมีการนำเข้าจริงเพียง 1,855 ตัน

5) บมจ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ กำลังการผลิต 30,000 ตัน มีปริมาณที่ขอรับยกเว้น 4,500 ตัน เทียบเท่ากับปีก่อนโดยมีการนำเข้าจริงเมื่อปี 2564 เพียง 1,772 ตัน และ 6) บมจ.กรุงไทยอาหาร กำลังการผลิต 21,000 ตัน มีปริมาณขอยกเว้น 2,500 ตัน เทียบเท่ากับปีก่อน

ทั้งนี้ ในแต่ละปีผู้ผลิตอาหารกุ้งต้องยื่นขอหนังสือรับรองปริมาณการใช้ข้าวสาลีในการผลิตอาหารกุ้งจากกรมประมง เพื่อเป็นเอกสารประกอบการขออนุญาตนำเข้าข้าวสาลีกับกรมปศุสัตว์ ซึ่งทางกรมประมงจะรับรองให้ตามปริมาณความจำเป็นต้องใช้จริง โดยให้ใช้ข้าวสาลีไม่เกิน 20% เป็นส่วนผสมของอาหารกุ้ง เนื่องจากข้าวสาลีจะมีสารอาหารเป็นแหล่งพลังงาน และใช้วีตกลูเตนจากข้าวสาลีเป็นสารเหนียว

โดยภาพรวมในช่วงที่ผ่านมานับจากปี 2560-2564 ทาง นบขพ.ให้การยกเว้นกับผู้ผลิตอาหารกุ้งทั้งหมด รวม 892,703 ตัน แต่มีการนำเข้าจริงปริมาณ 472,546.59 ตัน โดยแบ่งเป็น ปี 2560 มีปริมาณที่อนุมัติให้ยกเว้น 150,423 ตัน

แต่นำเข้าจริงเพียง 76,080.93 ตัน, ปี 2561 ปริมาณที่อนุมัติให้ยกเว้น 165,550 ตันแต่นำเข้าจริงเพียง 100,984.10 ตัน, ปี 2562 ปริมาณที่อนุมัติให้ยกเว้น 192,230 ตัน ปริมาณนำเข้าจริง 120,476.79 ตัน,

ปี 2563 มีปริมาณที่อนุมัติให้ยกเว้น 194,500 ตัน ปริมาณที่นำเข้าจริง 111,347.08 ตันและล่าสุดในช่วง 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2564 มีปริมาณที่อนุมัติให้ยกเว้น 190,000 ตัน นำเข้าจริงเพียง 63,657.69 ตัน ดังกล่าว