11 ปี “สมาคมเพื่อนชุมชน” เดินหน้าสู่ระยองเมืองน่าอยู่ ผนึกรัฐพัฒนาอุตฯเชิงนิเวศ

11 ปี “สมาคมเพื่อนชุมชน” เดินหน้าสู่ระยองเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม ผนึกรัฐมุ่งพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พร้อมเคียงข้างชุมชนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมสู่ความยั่งยืน

วันที่ 3 ธันวาคม 2564 รายงานข่าวระบุ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม “สมาคมเพื่อนชุมชน” ซึ่งเป็นต้นแบบความร่วมมือของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมแห่งแรกในประเทศไทย ประกาศความร่วมมือปีที่ 11 เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนระยองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน พร้อมแต่งตั้ง นายกสมาคมเพื่อนชุมชนคนใหม่ “นายมงคล เฮงโรจนโสภณ” แทน นายวริทธิ์ นามวงษ์ ซึ่งครบวาระ

ทั้งนี้ สมาคมเพื่อนชุมชน จะยังเดินหน้าร่วมกับทุกภาคส่วนในการนำจังหวัดระยองก้าวสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับสูงสุด และเพิ่มความเข้มข้นในการดูแลด้านเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม หนุนนโยบายรัฐลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ มุ่งยกระดับแก้ไขปัญหาสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

นอกจากนี้ ยังพร้อมยกระดับความช่วยเหลือทั้งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และในระยะฟื้นฟู สมาคมเพื่อนชุมชน หรือ CPA (Community Partnership Association) ก่อตั้งจากความร่วมมือของ 5 กลุ่มบริษัท ได้แก่ กลุ่ม ปตท. เอสซีจี บีแอลซีพี กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) จีพีเอสซี (เดิม คือ Glow) โดยปัจจุบัน มีสมาชิกสมทบอีก 12 บริษัท รวมเป็นบริษัทสมาชิกทั้งหมด 17 กลุ่มบริษัท

การดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชน ตลอดระยะเวลา 11 ปี ซึ่งกำลังก้าวเข้าสู่ปี ที่ 12 นั้น นับเป็นความร่วมมือของกลุ่มผู้ประกอบการและเครือข่ายสมาชิก ที่มีเป้าหมายเดียวกันที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ สังคม และการดูแลสิ่งแวดล้อม รวมถึงการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนระยอง พร้อมร่วมกันพัฒนา จ.ระยอง สู่การเป็นเมืองน่าอยู่คู่อุตสาหกรรม โดยเน้นให้อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล และเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน โดยมีแนวคิด Care Together ใส่ใจกันและกันตามที่สมาคมเพื่อนชุมชนยึดมั่นมาตลอด 11 ปี

นายวริทธิ์ นามวงษ์ อดีตนายกสมาคมเพื่อนชุมชน กล่าวว่า “ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ทุกภาคส่วนเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด 19 สมาคมเพื่อนชุมชน จึงยกระดับแผนงานด้านสาธารณสุขให้เข้มข้นมากขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาและความเดือนร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาด โควิด 19 โดยได้มีส่วนสนับสนุนอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า ในการดูแลประชาชน จ.ระยอง

โดยสมาคมเพื่อนชุมชนและบริษัทสมาชิก ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 62 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ และชุมชนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตั้งแต่ ปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ยังได้ส่งเสริมให้จังหวัดระยองมีบุคคลกรทางการแพทย์ที่เพียงพอต่อจำนวนประชาชน โดยได้มอบทุนพยาบาลเพื่อนชุมชนไปแล้วกว่า 440 ทุน รวม 7 รุ่น ซึ่งผู้ที่สำเร็จการศึกษาได้เข้าปฎิบัติงานในโรงพยาบาลรวม 9 แห่ง ในจ.ระยอง ”

“แม้จะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แต่สมาคมเพื่อนชุมชน ยังเดินหน้าขับเคลื่อนการทำงานในมิติด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัล มาปรับใช้กับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ เช่น มิติเศรษฐกิจ เสริมสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาไปแล้ว 43 กลุ่ม สามารถสร้างรายได้จากการขายสินค้าชุมชน ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ กว่า 60 ล้านบาท มิติสังคม ส่งเสริมการศึกษาให้กับเยาวชน โดยจัดทำโครงการเพื่อนชุมชนติวเตอร์ โดย 5 ปีที่ผ่านมา มีนักเรียนเข้าร่วมกว่า 27,000 คน สามารถทำคะแนนสอบ O-NET ได้ขึ้นชั้นคะแนนสูงสุด ติด 1 ใน 5 ของประเทศ มิติด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาโมเดล จากการบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อจัดการคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะ โดยชูโมเดลนำร่องทำโครงการคลองน้ำหู เพื่อร่วมกันดูแลคุณภาพน้ำ และฟื้นฟูระบบนิเวศในคลอง” นายวริทธิ์ นามวงษ์ อดีตนายกสมาคมเพื่อนชุมชนกล่าว

ด้านนายมงคล เฮงโรจนโสภณ นายกสมาคมเพื่อนชุมชนคนใหม่ กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานของสมาคมเพื่อนชุมชนในระยะต่อไป ยังคงร่วมมือกันกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนระยองให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ระดับ 5 (Happiness ) ซึ่งเป็นระดับสูงสุด โดยปี 2564 ได้มีการประเมินผลเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเขตมาบตาพุดคอมเพล็กซ์ ซึ่งยังสามารถรักษาระดับการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ 4 ได้ตามเป้าหมาย

นอกจากนี้ ยังจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ในปี 2065 ซึ่งสมาคมเพื่อนชุมชนจะร่วมเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ จ.ระยอง หลังการแพร่ระบาดโควิด 19 โดยการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พร้อมกับวางแผนการดำเนินงานต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ (Next Normal) และต่อยอดโครงการเดิมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นต่อไป