ไทยมีลุ้นสหรัฐฯ ต่ออายุโครงการ GSP ทันปีนี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้าการต่ออายุโครงการสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร( GSP) สหรัฐฯ ที่กำลังจะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ จะประกาศต่ออายุโครงการ GSP ได้ทันก่อนโครงการปัจจุบันจะสิ้นสุด และจะมีผลทำให้การใช้สิทธิพิเศษฯ GSP ของสินค้าส่งออกไทยไปยังตลาดสหรัฐฯ มีความต่อเนื่อง

แหล่งข่าวจากกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯได้รับแจ้งจากสำนักงานพาณิชย์ฯ ณ กรุงวอชิงตัน ในฐานะประธานกลุ่ม GSP Alliance ว่าได้เข้าร่วมกับผู้แทนประเทศสมาชิกที่ได้รับสิทธิพิเศษฯ GSP (ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เอกวาดอร์ อียิปต์ โบลีเวีย และฟิลิปปินส์) พบหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะกรรมาธิการต่างๆ ของรัฐสภาสหรัฐฯ เพื่อโน้มน้าวให้สหรัฐฯ ต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP ที่จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 และทราบว่าฝ่ายสหรัฐฯ น่าจะผนวกกฎหมายการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP เป็นในรูปแบบ “Large trade package” โดยอาจรวมอยู่กับ Miscellaneous Tariff Bill Act of 2017” ที่มีกำหนดประกาศภายในสิ้นปี 2560 นี้

ดังนั้น การต่ออายุโครงการ GSP มีความเป็นไปได้สูงที่จะประกาศภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2560 ก่อนที่โครงการ GSP ปัจจุบันจะหมดอายุลง สำหรับระยะเวลาการต่ออายุสิทธิพิเศษฯ GSP กลุ่ม GSP Alliance อยากให้มีการต่ออายุเป็นเวลา 3 ปีนั้นยังคงไม่มีความชัดเจน

เนื่องจากรัฐบาลสหรัฐฯ ยังไม่แน่ใจว่าจะหางบประมาณจากส่วนไหนมาสนับสนุนการให้สิทธิพิเศษฯ GSP ได้นานถึง 3 ปี อย่างไรก็ตามจะต้องขึ้นอยู่กับฝ่ายรัฐสภาสหรัฐฯ ว่าจะพิจารณาการต่ออายุโครงการได้นานเท่าใด

ทั้งนี้ สหรัฐฯ ให้สิทธิพิเศษฯ GSP แก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดทั้งหมด 120 ประเทศ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย โดยให้สิทธิพิเศษฯ GSP สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ประมาณกว่า 3,500 รายการ เช่น ส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศ เครื่องดื่มอื่นๆ ถุงมือยาง และอาหารปรุงแต่ง เป็นต้น ซึ่งในปี 2560 (ม.ค.-ก.ย.) ประเทศไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิพิเศษฯ มากเป็นอันดับสองรองจากอินเดีย โดยมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 20.05 ของมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ทั้งหมดของสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่า 15,453.50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

สำหรับประเทศที่มีการใช้สิทธิพิเศษฯ GSP สูง 5 อันดับแรก คือ1. อินเดีย มูลค่า 4,065.51 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนแบ่งการใช้สิทธิ GSP 26.31 % 2. ไทย 3,098.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 20.05% 3. บราซิล 1,818.30 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 11.77 % 4. อินโดนีเซีย 1,397.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สัดส่วน 9.04% 5. ตุรกี 1,189.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ 7.70%


ผู้ประกอบการและผู้ส่งออกสินค้าไปยังตลาดสหรัฐฯ ควรเร่งการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษฯ GSP ที่เป็นแต้มต่อที่ได้รับอยู่ให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มมูลค่าส่งออกไปตลาดที่ให้สิทธิพิเศษฯ GSP ให้มากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย