สัญญาณดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ฟื้นระดับ 85.4

อุตสาหกรรม

ส.อ.ท.เผยดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ฟื้น 3 เดือนต่อเนื่อง และสูงสุดในรอบ 8 เดือน จากปัจจัยรัฐคลายล็อก เปิดประเทศ ส่งออกโต พร้อมไม่ประมาทหลังเจอโอไมครอน

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2564 จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,381 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศ พบว่า อยู่ที่ระดับ 85.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.1 ในเดือนตุลาคม 2564 โดยค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 8 เดือนนับแต่ เม.ย. 64 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง

ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลมากที่สุด ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน 40.6% กังวลลดลง ได้แก่ ราคาน้ำมัน 65.4% เศรษฐกิจในประเทศ 59.5% สถานการณ์ระบาดของโควิด-19 58.0% สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 50.2% อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 43.0% และสภาวะเศรษฐกิจโลก 45.1%

ขณะที่การฉีดวัคซีนมีความคืบหน้าอย่างชัดเจน ส่งผลให้ภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมีการปรับลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ยกเลิกมาตรการห้ามออกนอกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ตลอดจนอนุญาตให้สถานที่หรือกิจการบางประเภทสามารถเปิดดำเนินการได้ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร สถานเสริมความงาม สถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้กำหนดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กระบี่ พังงา และภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดประเทศ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จากมาตรการดังกล่าวส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทยอยฟื้นตัว สะท้อนดัชนีคำสั่งซื้อและยอดขายสินค้าอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักรกล กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้างและเครื่องใช้ในบ้าน รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและยา เป็นต้น

ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ จีน อาเซียน และอินเดีย ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศเริ่มมีทิศทางดีขึ้นอย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นจนกระทบต่อต้นทุนการผลิตและการขนส่ง ปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และอัตราค่าระวางเรือสูง ขณะที่ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตและการก่อสร้างยังเป็นปัจจัยกดดันต่อเนื่อง

สำหรับดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 97.3 จากระดับ 95.0 ในเดือนตุลาคม 2564 โดยผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางดีขึ้นภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

นอกจากนี้ภาคการส่งออกยังคงมีแนวโน้มขยายตัวตามความต้องการสินค้าในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับการกลับมาระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงขอให้ภาครัฐเตรียมมาตรการรองรับหากมีการระบาดรอบใหม่ตลอดจนออกมาตรการตรวจสอบคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพบผู้ติดเชื้อโควิดโอไมครอนแล้ว 1 รายแต่รัฐก็ได้มีมาตรการดูแลเข้มงวด ขณะเดียวกันมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชื้อดังกล่าวยังไม่รุนแรง ภาพรวมความวิตกกังวลก็มีบ้างแต่ยังไม่มาก แต่เราต้องไม่ประมาท อยากให้ทุกส่วนร่วมมือกันดูแลอย่างเต็มที่เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกดาวน์และไม่อยากให้เกิดเคอร์ฟิวอีก รัฐจึงควรเตรียมมาตรการรองรับหากมีการระบาดรอบใหม่ ตลอดจนออกมาตรการตรวจสอบคัดกรองนักท่องเที่ยวอย่างเข้มงวด

ส่วนวันที่ 7 ธ.ค.นี้จะมีการประชุมคณะกรรมการภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทยที่จะมีการประเมินทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่จะต้องนำผลกระทบของโอไมครอนมาวิเคราะห์ร่วมด้วย ส่วนของภาพรวมปี 2564 กกร.ได้ประเมินเศรษฐกิจจะขยายตัวในกรอบ 0.5-1.5% การส่งออกขยายตัว 12.0-14.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 1.0-1.2% ซึ่งเบื้องต้นคาดว่า ศก.น่าจะขยายตัวได้ในระดับที่คาดการณ์ไว้ แต่การส่งออกน่าจะเติบโตได้ดีกว่าคาดการณ์เล็กน้อย

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ 1) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 2 ให้เร็วที่สุด รวมถึงการฉีดเข็ม 3 (Booster) ที่มีความสามารถในการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน ตลอดจนเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดระลอกใหม่ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนได้รับ ทราบถึงแนวทางป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่

2) เร่งจัดหาและนำเข้าแรงงานต่างด้าวภายใต้ MOU เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งแก้ไขปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายตามแนวชายแดน 3) ขอให้ภาครัฐออกมาตรการช่วยเหลือ และบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น อาทิ พยุงราคาพลังงาน,ตรึงราคาค่าไฟฟ้า (FT) และลดค่าสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า,น้ำประปา)

4) เร่งออกมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายใต้มาตรการควบคุมโรค ในช่วงเทศกาลปีใหม่ เพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ 5) สนับสนุนสินค้า Made in Thailand ผ่านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเอกชนมากขึ้น