สรท. ไม่หวั่นปัจจัยลบ คาดส่งออก ปี’65 โต 5%

Photo by STR / AFP) / China OUT

สรท. ปรับคาดการณ์ส่งออกไทยปี 64 โต 15% พร้อมคาดการณ์ปี 2565 ส่งออกขยายตัว 5-8% แรงฉุดส่งออกยังมี ค่าเงิน แรงงานขาด โอไมครอน ต้องจับตา

วันที่ 7 ธันวาคม 2564 นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า สรท.ปรับคาดการณ์การส่งออกไทยในปี 2564 ลุ้นเติบโตถึง 15% และคาดการณ์ปี 2565 โต 5-8% จากยอดการเติบโตของการส่งออกในระยะที่ผ่านมาเชื่อว่าการส่งออกทั้งปีจะเติบโตได้ตามเป้าหมาย

แต่ทั้งนี้ แม้มูลค่าการส่งออกของไทยที่กลับมาเติบโตในปี 2564 แต่ยังเจอแรงฉุดจาก 1) ความล่าช้าในการใช้ประโยชน์จากความตกลง อาทิ RCEP CPTPP การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ไทย-สหราชอาณาจักร ไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน รวมถึงการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาข้อกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี 2) ด้านโลจิสติกส์และการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ

3) ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลและระบบฐานข้อมูล พบว่าผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวสำหรับการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล 4) ด้านการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมการขาดสภาพคล่องทางการเงินจากยอดขายที่ลดลง และความผันผวนของค่าเงินบาท 5) ด้านแรงงานและการฝึกอบรม เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคและต้องติดตาม ได้แก่ 1) ความกังวลต่อสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ “โอไมครอน” ซึ่ง WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล และเริ่มมีการแพร่กระจายในหลายประเทศ อาทิ เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี เชค ออสเตรเลย ฮ่องกง สหรัฐฯ อังกฤษ ซึ่งยังคงมีตัวเลขผู้ติดเชื้อในระดับสูง ขณะที่หลายประเทศเริ่มกลับมาจำกัดการเดินทางเข้าออกประเทศโดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกา และมีความเป็นไปได้ที่หลายประเทศอาจจะล็อคดาวน์อีกครั้งซึ่งสวนทางกับช่วงเศรษฐกิจกำลังเร่งฟื้นตัว

2) แรงงานในภาคการผลิตขาดแคลนต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนการจ้างงานปรับตัวสูงขึ้น กระทบการผลิตเพื่อส่งออกที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด 3) ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ตกค้าง ณ ท่าเรือปลายทาง โดยเฉพาะท่าเรือ Los Angeles และ Long Beach ที่พบปัญหาความหนาแน่นภายในท่าเรือ ทำให้ต้องใช้ระยะเวลานานในการขนถ่ายสินค้า รวมถึงปัญหา Space allocation ไม่เพียงพอ ส่งผลให้บางสายการเดินเรือต้องหยุดให้บริการจองระวางชั่วคราว ส่งผลต่อภาระต้นทุนการขนส่งสินค้าที่ผู้ส่งออกต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และมีแนวโน้มที่จะทรงตัวสูงยาวจนถึงปี 2565

4) ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์, เหล็ก, น้ำมัน ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ยังคงประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง 5) ปัญหาคอขวดด้านอุปทานของโลก เนื่องจากการผลิตทำได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่ต้นทุนการผลิตโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเอเชียและไทยต้องแบกรับภาระจากต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบและสินค้านำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนค่าขนส่ง อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงกำลังซื้อผู้บริโภค และทำให้การนำเข้าของประเทศคู่ค้าสำคัญเริ่มชะลอตัวลง

ข้อเสนอแนะในภาพรวม คือ 1. ปัญหาขาดแคลนแรงงานต่างด้าว ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำเข้าแรงงานต่างด้าวตาม MOU ในแนวทางปฏิบัติ 2. เร่งปรับลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าวัตถุดิบ สำหรับนำเข้าผลิตเพื่อส่งออก ซึ่งอาจส่งต่ออัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบราคาสินค้าที่ต้องปรับตัวตามกลไกราคา

อย่างไรก็ดี เพื่อให้มีแนวทางในการพัฒนาการส่งออกไทยให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้ในระยะต่อไป สรท. ได้จัดทำ White Paper: Post Covid-19 Rehabilitation Plan for Export Sector เพื่อนำเสนอ 1) บทวิเคราะห์สภาพความเปลี่ยนแปลงของปัจจัยภายนอก 2) ความท้าทายระดับมหภาคต่อการส่งออกของไทย 3) ความท้าทายและข้อเสนอแนะในภาพรวมและรายอุตสาหกรรม

ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญประกอบด้วย อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมยางพารา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมพลาสติกและผลิตภัณฑ์