บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร รับมือราคาสินค้าเกษตรปี 2561

สัมภาษณ์

การดูแลราคาสินค้าเกษตร และค่าครองชีพ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน เกษตรกร ถือเป็นภาระใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” อธิบดีกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบถึงทิศทางการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ให้สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การทำงานในปี 2561

การดูแลผลผลิตข้าวนาปี

ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการชะลอผลผลิตข้าวนาปีไม่ให้ออกสู่ตลาดมากเกินไป เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรขายไม่ได้ราคา กรมการค้าภายในได้ลงพื้นที่หลายจังหวัดเพื่อชี้แจงนโยบายให้เกษตรกรได้รับทราบ ล่าสุดได้ร่วมกับคณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ติดตามสถานการณ์ผลผลิตข้าวนาปีในจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุรินทร์ ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ การเลือกลงพื้นที่ภาคอีสานเพราะมีการปลูกข้าวหอมมะลิมากที่สุด ส่วนผลผลิตในพื้นที่อื่นทั่วประเทศมีการติดตามด้วย

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ ได้แก่ โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร เป้าหมายจำนวน 2 ล้านตันข้าวเปลือก กำหนดเวลา 5 เดือน ไม่เสียดอกเบี้ย และการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพให้ผู้ปลูกข้าวนาปีรายย่อย โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2560/61 โดยสนับสนุนสินเชื่อแก่สถาบันเกษตรกร รวบรวมข้าวเปลือกเพื่อจำหน่าย และแปรรูป ประมาณ 2.5 ล้านตัน ดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลา 12 เดือน

โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวในการเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2560/61 เป้าหมาย 8 ล้านตัน อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปี ระยะเวลาชดเชยดอกเบี้ย 60-180 วัน โดยมาตรการเหล่านี้รัฐบาลออกมาเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและเป็นมาตรการต่อเนื่องที่ทำมา

มาตรการอื่นเพิ่มเติม

เช่น การเชื่อมโยงตลาดข้าวสี ได้แก่ ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวหอมมะลิดำ (หอมนิล) และข้าวไรซ์เบอรี่ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันออกสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศ เริ่มนำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี สามารถเชื่อมโยงข้าวสีฤดูกาลผลิตปี 2561/62 ประมาณ 450 ตันข้าวเปลือก และโครงการบริหารจัดการรถเกี่ยวข้าวโดยใช้แอปพลิเคชั่นจองรถเกี่ยว ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ล่าสุดมีการดาวน์โหลดแล้ว 555 ราย ลงทะเบียนใช้งาน 472 ราย และจองรถเกี่ยวข้าวในระบบจำนวน 174 ราย

ยังมีตลาดนัดข้าวเปลือก

ปีนี้ยังทำตลาดนัดข้าวเปลือกเพื่อให้เป็นช่องทางการจำหน่ายข้าวให้กับเกษตรกร และเป็นช่องทางให้เกษตรกรโรงสีและผู้ส่งออกได้พบปะกันเพื่อเลือกซื้อสินค้า โดยฤดูผลิตปี 2560/61 ตั้งเป้าจัด 130 ครั้งทั่วประเทศ ขณะนี้จัดไปบ้างแล้วได้รับการตอบรับจากผู้ซื้อ-ผู้ขายข้าว เพราะทำให้เกิดการเจรจาต่อรองซื้อขาย และแข่งขันกันมากขึ้น และประโยชน์ทำให้เกษตรกรขายได้ราคาดีขึ้น มีช่องทางและทางเลือกในการขายข้าวมากขึ้น ตลาดนัดข้าวเปลือกรวมการซื้อขายข้าวทุกชนิด กรมกำหนดให้ติดป้ายราคา รับรองคุณภาพ และอื่น ๆ ซึ่งเชื่อถือได้ และผู้ซื้อเชื่อมั่นในคุณภาพ

สถานการณ์ราคาข้าว

ตอนนี้ราคาข้าวปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ตอนนี้โรงสีหาซื้อข้าวยากขึ้น เพราะเกษตรกรนำข้าวเข้าโครงการมากขึ้น โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ความชื้น 15% ราคาที่เกษตรกรขายได้ประมาณ 12,000 บาทต่อตัน เป็นราคาที่น่าพอใจอย่างมาก ขณะที่ข้าวขาว 5% ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 7,300-7,800 บาทต่อตัน ส่วนราคาข้าวเหนียวน่าจะปรับดีขึ้น ที่ผ่านมามีการเพาะปลูกมากทำให้ราคาตก แต่ตอนนี้ความต้องการข้าวเหนียวจากตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนไม่เพิ่มขึ้น ที่ผ่านมาจีนนำเข้าข้าวเหนียวไปเป็นส่วนผสมในการผลิตเอทานอล ทำให้ราคาดี แต่เมื่อผลผลิตเพิ่ม ความต้องการเท่าเดิม จึงส่งผลต่อราคา แต่ปีนี้เกษตรกรปลูกน้อยคาดว่าจะทำให้ราคาขยับดีขึ้น ส่วนคาดการณ์ผลผลิตข้าวนาปีประเมินอยู่ที่ 24 ล้านตัน

มาตรการปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมัน กรมได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) คาดการณ์ผลผลิตปี 2560 อยู่ที่ 12.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา เฉลี่ยราคาปัจจุบันอยู่ที่ 3.80-4.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ 400,000 ตัน ราคาน้ำมันปาล์มดิบเฉลี่ยอยู่ที่ 20.75-21 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนมาเลเซีย ราคา 21.32 บาทต่อกิโลกรัม ใกล้เคียงกับไทย ยังไม่มีนโยบายการนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบโดยเฉพาะตามชายแดน

ส่วนที่หลายคนกังวลเรื่องผลผลิตที่กำลังออกมามาก ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ปัจจุบันอยู่ที่ 1.57 ล้านตัน และมีผลต่อปาล์มล้นตลาดหรือราคาตกต่ำนั้น ได้ขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสำรองไบโอดีเซลเพิ่มขึ้น และขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาให้โรงงานผลิตไฟฟ้า จ.กระบี่ นำน้ำมันปาล์มไปเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาดที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2560 เพื่อเตรียมมาตรการรองรับปัญหาราคาผลปาล์มน้ำมันตกต่ำ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มทั้งระบบ หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะเสนอมาตรการแก้ไขปัญหาต่อคณะอนุกรรมการฯด้านการตลาดต่อไป

มันสำปะหลัง

กรมได้จัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง โดยสนับสนุนเครื่องสับ ขนาดเล็กราคาเฉลี่ย 15,000 บาทต่อเครื่อง ให้กับวิสาหกิจชุมชน เป้าหมายอยู่ที่ 450 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เกษตรกรทำมันเส้นที่มีคุณภาพดี สะอาด ต่อการซื้อขาย ส่งออก และปศุสัตว์เองด้วย ขณะที่การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน กรมได้สนับสนุนให้มีเครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกที่ด่าน จุดผ่อนปรน รวมทั้งสั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ การขนย้าย เพื่อป้องกันปัญหาการลักลอบหรือนำเข้าไม่ถูกต้อง ล่าสุดมีการจับกุมได้และดำเนินคดีไปแล้ว 20 ราย ในพื้นที่บุรีรัมย์ สุรินทร์ เป็นต้น

ส่วนเรื่องการส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ได้จัดคณะไปตุรกี เพื่อส่งเสริมการส่งออกมันสำปะหลัง ซึ่งได้รับการตอบรับดี มีการสั่งนำเข้า เป็นการขยายตลาดส่งออกไปประเทศอื่นบ้าง เพราะตลาดหลักของมันสำปะหลังไทยอยู่ที่จีน ขณะที่ราคามันสำปะหลัง ตอนนี้ราคาหัวมันสด เชื้อแป้ง 25% กก.ละ 2.05 บาท ซึ่งสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

การดูแลค่าครองชีพ

กรมได้มอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ราคาอย่างใกล้ชิด ซึ่งยังไม่มีการรายงานถึงความผิดปกติ และในช่วงต้นปี 2561 จะประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) เพื่อติดตามสถานการณ์ราคาสินค้ากว่า 400 รายการ ซึ่งที่ประชุมจะพิจารณาสินค้าที่ควรจะติดตามเป็นพิเศษ เพิ่มหรือลดรายการสินค้าใดบ้างในรายการสินค้าควบคุม ล่าสุดกรมได้มีการหารือกับผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้าในการจัดมหกรรมลดราคาสินค้า รวมไปถึงมาตรการอื่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพิ่มเติมจากมาตรการที่รัฐดำเนินการ เชื่อว่าจะช่วยลดค่าครองชีพให้กับประชาชนและเกิดเงินสะพัดกว่า 30,000 ล้านบาท

สำหรับประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ร้านค้าสวัสดิการแห่งรัฐ กรมได้หารือผู้ประกอบการในการเพิ่มสินค้าเข้ามาจำหน่ายมากขึ้น และนำสินค้าชุมชนเข้ามาเพิ่มเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน และพร้อมเปิดโอกาสผู้ประกอบการที่มีความพร้อมทุกราย ส่วนกฎหมายแข่งขันทางการค้า ขณะนี้อยู่ระหว่างการสรรหาประธานอยู่