สนพ. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นกรอบ “แผนพลังงานชาติ” เน้นประชาชนมีส่วนร่วม

พลังงาน

สนพ.เดินหน้าเปิดรับฟังความคิดเห็น “กรอบแผนพลังงานชาติ” ผ่านระบบออนไลน์ และแบบออนไซต์ แล้วจำนวน 5 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน คาดแผนพลังงานแห่งชาติ จะเริ่มใช้ได้จริงปี 2566 ก่อนมอบให้แต่ละหน่วยงานจัดทำ 5 แผนย่อย เพื่อสรุปเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาอีกครั้งช่วงปลายปี 2565

วันที่ 9 ธันวาคม 2564 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมานั้น สนพ. ได้ ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) ในรูปแบบออนไลน์ และแบบออนไซต์ จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน โดยได้รับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มต่าง ๆ

ดังนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น / กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 กลุ่มสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้แทนด้าน Renewable Energy ผู้แทนจากสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

ผู้แทนจากสมาคมค้าเอทานอลไทย ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ผู้แทนจากภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการเงิน คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นต้น

สำหรับกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) นั้น จะเป็นแผนที่กำหนดทิศทางของกรอบเป้าหมายนโยบายพลังงานให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ดังนั้น กรอบแผนนี้จะเป็นการบูรณาการว่าทิศทางในการพัฒนาพลังงานของประเทศในอีก 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีข้างหน้านั้น จะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร

อาทิ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy Transition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการใช้ฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว และการมีนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ มารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว

รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั่วโลกได้มีการเตรียมการที่จะรองรับประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่การประชุม COP21 หรือข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015 และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมาได้มีการประชุม COP26 ในระดับผู้นำ ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยจะบรรลุ “ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon Neutrality” ในปี 2050 และบรรลุการเป็นประเทศ Net Zero Emission ในปี 2065

ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลพิษสู่อากาศทั้งสิ้น 225 ล้านตัน โดยใน 225 ล้านตัน มาจากภาคพลังงาน 90 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 37 ของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปลดปล่อยทั้งหมด และประมาณ 70 ล้านตัน หรือร้อยละ 29 พบว่ามาจากภาคการขนส่ง และเมื่อนำ 2 ส่วนมารวมกันก็คิดเป็นร้อยละ 60 ดังนั้น หากมีการกำหนดมาตรการลดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ พร้อมกับมีการดำเนินการด้านการลงทุนของพลังงานสะอาดก็จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ สนพ. จึงมีการกำหนดกรอบแผนพลังงานนี้อีกครั้ง โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2565-2569) จะมีความคืบหน้าในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสนับสนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการประกาศนโยบาย 30@30 การสนับสนุนระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) สำหรับการสำรองไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนที่จะเข้ามาในระบบปัจจุบัน การพัฒนาระบบสายส่งให้เป็นลักษณะการสื่อสารสองทาง (Two-Way Communication) เป็นต้น

คาดว่าแผนพลังงานชาติ เริ่มใช้ได้จริงปี 2566 โดยยืนยันว่าการจัดทำแผนดังกล่าวยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่เสนอ กพช. ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความเห็นกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ จะเป็นกรอบและทิศทางของแผนฯ ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด

โดยเร็ว ๆ นี้ สนพ. จะเร่งเปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนทั่วประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชน และ NGO ในลำดับต่อไป นอกจากนี้ประชาชนจากทุกภาคส่วนยังสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพลังงานชาติฉบับนี้ได้ที่ www.eppo.go.th ตั้งแต่วันนี้-31 ธันวาคม 2564 ซึ่งเชื่อว่าการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนในสังคม จะทำให้ได้แผนพลังงานชาติที่ประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจัดทำแผนฯ ร่วมกันกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทย และจะนำเสนอ กบง. และ กพช. ก่อนที่จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป