โฟร์โมสต์ปูพรมส่งเสริมเกษตรกรหลังผลผลิตนมวูบ

สภาวะ อากาศผันผวนหนัก ฝนตกชุกสารพัดโรครุม ทั้งโรคปากเท้าเปื่อย เต้านมอักเสบและปอดบวมเฉียบพลันกระหน่ำโคนมตาย 10-20% ส่งผลผลิตนมดิบ 3 ไตรมาสแรกปีนี้วูบ 17% โฟร์โมสต์ปรับแผนเร่งส่งเสริมเกษตรกรหน้าใหม่-เก่าผลิตเพิ่มในปีหน้า รับมือผลผลิตทรงตัว จับมือ อ.ส.ค.-มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ผลิตหลักสูตรโคนมแห่งชาติแก้วิกฤตทั้งระยะ สั้น-ยาว

ดร.โอฬาร โชควิวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมโฟร์โมสต์ เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศของไทยในปีนี้ ทั้งภัยแล้งช่วงต้นปี ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโคนมในประเทศ โดยพืชอาหารสัตว์ได้รับความเสียหาย ในขณะที่เกิดฝนตกชุกตั้งแต่กลางปีเป็นต้นมา ทำให้แม่โคนมเป็นโรคเต้านมอักเสบ ส่งผลให้น้ำนมโคที่รีดได้จำนวนหนึ่งไม่สามารถนำมาบริโภคได้ ปัญหาการระบาดของโรคปากเท้าเปื่อยอย่างต่อเนื่อง เพราะเกษตรกรไม่ยอมฉีดวัคซีนป้องกันพร้อมกันในระยะ 5-7 วัน เพราะกลัวแม่โคแท้งลูก และโรคปอดบวมเฉียบพลันในช่วงกลางเดือน ก.ค.-ส.ค. ที่ทำให้แม่โคล้มตายกว่า 10-20% อันเนื่องมาจากความชื้นในอากาศสูง จึงทำให้เกษตรกรโคนมต้องคัดทิ้งแม่โคที่อยู่ในช่วงให้ผลผลิตออกเป็นจำนวนมาก

ทั้งหมดนี้ทำให้ปริมาณนมดิบของไทยทั้งประเทศใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ลดลงถึง 27 ล้านกิโลกรัมหรือ 17% จากปกติที่ผลิตได้วันละ 3,300 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในส่วนของโฟร์โมสต์ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว จากที่รับซื้ออยู่ 353 ตันต่อวันในปี 2559 ก็ลดลงเช่นกัน ส่งผลให้สต๊อกนมยูเอชทีของโฟร์โมสต์ลดลงตามไปด้วย

“คาดว่าภายในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2560 นี้ สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบไปมากกว่านี้ในปี 2561 โฟร์โมสต์จึงมีแผนส่งเสริมเกษตรกรทั้งรายเก่าที่มีอยู่ 4,000 ราย รวมทั้งส่งเสริมเกษตรกรรายใหม่ในภาคใต้ ภาคกลางและภาคอีสานเพิ่มเติมอีก เพื่อรองรับยอดขายต่อปีที่จะต้องเพิ่มขึ้นปีละ 2-5% และโฟร์โมสต์ใช้น้ำนมดิบในประเทศมาผลิตนมพร้อมดื่ม 100% นอกจากนี้ยังร่วมกับองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผลิตหลักสูตรโคนมแห่งชาติเพื่ออบรมผู้ที่ต้องการเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ให้แพร่หลายมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้วิกฤตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งปีนี้บริษัทอบรมเกษตรกรในเครือข่ายไปแล้ว 3,000 ราย” ดร.โอฬารกล่าว

นายสมสวัสดิ์ ตันตระกูล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาฟาร์มโคนม บริษัท ฟรีสแลนด์คัมพิน่า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบริโภคนมในประเทศไทย ปัจจุบันยังมีอัตราที่เติบโตขึ้นทุกปี แต่ยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมากเพียง 18 กก.ต่อคนต่อปีเท่านั้น น้อยกว่าญี่ปุ่นที่มีการบริโภคนมที่ 100 กก.ต่อคนต่อปี หรือสิงคโปร์คนละ 60-70 ลิตรต่อปี ซึ่งไทยมีแผนจะส่งเสริมให้มีการบริโภคมากขึ้นเป็น 25 กก.ต่อคนต่อปีในอีก 5 ปีข้างหน้า แต่เป้าหมายของโฟร์โมสต์คือ ต้องทำให้ได้ใน 3 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบันโฟร์โมสต์ยังมียอดขายนมยูเอชทีของตลาดเชิงพาณิชย์เป็นอันดับ 1 ของไทย ในปีนี้คาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้น 2-5% จากปีที่ผ่านมามียอดขาย 13,500 ล้านบาท

“นมดิบที่ลดลงกว่า 27 ล้าน กก.นั้น มีมูลค่ากว่า 472 ล้านบาท หรือกว่า 52 ล้านบาทโดยเฉลี่ยต่อเดือน ซึ่งส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรหายไปด้วย ขณะที่การสต๊อกนมรสจืดยูเอชทีของบริษัทลดลงเหลือวันต่อวัน ดีแต่ว่ามีสต๊อกจากการรับซื้อนมโรงเรียนช่วงปิดเทอมเข้ามาเสริม ทำให้สต๊อกคลายตัวบ้าง ส่วนในปี 2561 คาดการณ์ว่าปริมาณน้ำนมดิบจะอยู่ในภาวะทรงตัว คือ มีปริมาณเพิ่มขึ้นไม่มาก แม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายการส่งเสริมในการทำเกษตรโคนม โดยประกาศใช้มาตรฐานการรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ ควบคู่กับการประกาศราคากลางรับซื้อน้ำนมโค ณ ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2559 ซึ่งส่งผลให้มีการขยายการเลี้ยงโคนมเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี อย่างไรก็ตาม การขยายขนาดการเลี้ยงโคนม ต้องใช้เวลามากกว่าปศุสัตว์อื่น ๆ ประกอบกับผลกระทบสืบเนื่องจากภาวะน้ำท่วมขังในปีนี้ ซึ่งส่งผลให้ปริมาณโคนมที่พร้อมจะให้ผลผลิตในปีหน้านั้นลดลง” นายสมสวัสดิ์กล่าว

อนึ่ง ปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ไทยมีจำนวนโคนมทั้งหมด 622,892 ตัวโดยประมาณ ให้ผลผลิตน้ำนมโคกว่า 1,161 ล้านลิตรหรือกิโลกรัมต่อปี เป็นผลผลิตจากภาคกลาง 63% ภาคอีสาน 25% ภาคเหนือ 11% ภาคใต้ 1% จังหวัดที่มีอัตราการผลิตน้ำนมสูงสุด 3 อันดับแรกคือ สระบุรี 22% นครราชสีมา 15% ลพบุรี 10% ของปริมาณน้ำนมดิบทั้งประเทศ


ในขณะที่ราคาแม่โคนมพร้อมรีดนม ปัจจุบันพุ่งขึ้นเป็นตัวละ 5 หมื่นบาท จาก 5 ปีที่ผ่านมาตัวละ 2 หมื่นบาท ลูกโคนมเพศเมียที่หย่านมขณะนี้ตัวละ 3,000 บาท ลูกโคนมเพศผู้ยังไม่หย่านมตัวละ 700-800 บาท