ผงะประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ผงะประสิทธิภาพการผลิตการผลิตอุตสาหกรรมไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

ส.อ.ท.ผนึกพันธมิตร “เนคเทค-สวทช. “ยกระดับอุตสาหกรรม 4.0 หลังพบข้อมูลประสิทธิภาพการผลิตอุตสาหกรรมไทยแค่ 50% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ระดับ 85% เปิดตัวแพลตฟอร์มสารสนเทศขั้นสูง พร้อมศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน Sustainable Manufacturing Center: SMC

วันที่ 13 ธันวาคม 2564 นายพาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค สวทช. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ (มทร.กรุงเทพ) และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน

จัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC–ACE 2021) ภายใต้แนวคิด “ฐานรากเทคโนโลยีก้าวไกล พัฒนาไทยก้าวหน้า” มุ่งเน้นด้าน “Digital Transformation for Sustainable Manufacturing and Services” เพื่อยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

เป้าหมายเพื่อแสดงผลงานทางด้านนวัตกรรมการผลิตและบริการที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถนำไปใช้แก้ไขปัญหาและประยุกต์ใช้งานได้จริงในสายการผลิต พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0

นายณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. กล่าวว่า การจัดงานประชุมวิชาการและนิทรรศการของเนคเทคประจำปี 2564 หรือ NECTEC Annual Conference and Exhibitions 2021 (NECTEC – ACE 2021) ถือเป็นกิจกรรมสำคัญในการส่งมอบผลงานให้กับประเทศไทย เป็นเวทีนำเสนอผลงานวิชาการ ผลงานวิจัย การสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศและเครือข่ายพันธมิตร

โดยในปีนี้มีกลุ่มเป้าหมายและพันธมิตรที่สำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตรเอกชน ที่ต้องการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ด้วยเทคโนโลยีเหมาะสมและคุ้มค่าต่อการลงทุน

ภายในงานจะมีการนำเสนอองค์ความรู้จากผลงานวิจัยของเนคเทค และผลงานที่ร่วมกับพันธมิตร มานำเสนอในรูปแบบการสัมมนาวิชาการ และการจัดนิทรรศการแบบOnline โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อนำเสนอผล งานและบริการที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมไทยด้วยเทคโนโลยี ดิจิทัล เพื่อแสดงศักยภาพและเทคโนโลยีจากภาครัฐและเอกชนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสำหรับภาค อุตสาหกรรม และนำเสนอความก้าวหน้าทางวิชาการทางด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิสก์ และสารสนเทศขั้นสูง

โดยในปีนี้จะมีการจัดงานในรูปแบบ Online มีระยะเวลาจัดงาน 4 วัน , มี 4 Keynote , 17 หัวข้อสัมมนา, 50 บูธนิทรรศการ, 10 ห้องเจรจาธุรกิจ ที่สำคัญ คือ Virtual Exhibition ทั้ง 50 บูธ ยังเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับชมและศึกษาข้อมูลได้ตลอด 3 เดือนภายหลังวันจัดงาน

นายชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) กล่าวว่า วันนี้สิ่งหนึ่งที่เนคเทค สวทช. พัฒนาเทคโนโลยีมาอย่างต่อเนื่อง คือ การเพิ่มขีดความสามารถด้านอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ประกอบกับมีโจทย์สำคัญของประเทศในการขับเคลื่อนไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยภายหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในปี 2564

เนคเทค สวทช. จึงส่งมอบ Smart Factory Platform ซึ่งประกอบด้วยเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภายใต้แผนพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi จึงมีโอกาสขยายต่อยอดเพื่อประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมทุกระดับต่อไป พร้อมเปิดตัวศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (Sustainable Manufacturing Center: SMC) ตอบโจทย์การผลิตยุคใหม่ พัฒนาไทยสู่ Industry 4.0”

ผงะประสิทธิภาพการผลิตการผลิตอุตสาหกรรมไทยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันดิจิทัลดิสรัปชันและโควิด-19 ต่างเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีที่รวดเร็วขึ้น ทุกธุรกิจและทุกอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อก้าวข้ามวิกฤตินี้ไปให้ได้ ต้องเรียนรู้ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ อาทิ Metaverse, Automation & Robotics, Artificial Intelligence, Block Chain และ Internet of Things เป็นต้น

จากข้อมูลพบว่า มีการนำระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอย่างแพร่หลาย โดยมีตัวเลขประมาณการเติบโตถึง 14% ต่อปี ดังนั้น ภาคอุตสาหกรรมไทยจึงจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน กระบวนการผลิตสู่แนวทาง Industry 4.0 ให้มากที่สุด ปัจจุบันไทยมีค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 50% (มาตรฐานสากลอยู่ที่ประมาณ 85%) ซึ่งทำให้ไทยมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยสูงกว่าสากล ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง

ด้วยเหตุนี้เอง ส.อ.ท. จึงมุ่งขับเคลื่อนและสนับสนุนให้เกิด Industry 4.0 ในภาคอุตสาหกรรม อาทิ การผลักดันให้เกิด Industry 4.0 use cases ในภาคอุตสาหกรรม, การสนับสนุนหลักสูตรด้าน Industry 4.0 ผ่าน FTI Academy, ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวทางการผลักดันและเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม, สนับสนุนการจับคู่ด้าน Industry 4.0,

ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการประเมินสถานะความพร้อมเพื่อเข้าสู่ Industry 4.0 และการร่วมกำกับดูแลและสนับสนุนผู้ประกอบการนำร่อง พร้อมผลักดันให้เกิดการใช้งานแพลตฟอร์ม และหวังว่าท่านผู้ประกอบการจะได้เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์ของวิทยากรภายในงาน NECTEC-ACE 2021 นี้ อย่างเต็มที่ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมของท่านต่อไป