สมอ.จ่อออกมาตรฐานบังคับควบคุม หน้ากากอนามัย กลางปี’65

สมอ.เผยกำหนดมาตรฐานหน้ากากอนามัยตามขั้นตอน หลังมีหน่วยงานออกมาแถลงข่าวผลการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว 41 ยี่ห้อไม่ผ่านมาตรฐาน ทั้งนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุม คาดมีผลบังคับใช้กลางปี’65 ทุกยี่ห้อต้องได้มาตรฐาน มอก.เตือนผู้บริโภคดูเครื่องหมายมาตรฐานก่อนซื้อ

วันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ตามที่มีหน่วยงานแถลงข่าวผลการทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 เวลา 10.00-12.00 น. ผ่านทาง Facebook live โดยทดสอบหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว จำนวน 41 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 2424-2562 จำนวน 35 ยี่ห้อ

และทดสอบหน้ากาก N95 จำนวน 19 ยี่ห้อ พบว่าไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน มอก.2480-2562 จำนวน 6 ยี่ห้อ และเรียกร้องให้ สมอ. กำหนดให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมหรือเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าและคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้า นั้น

ขอชี้แจงว่า การดำเนินการของ สมอ. ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการประกาศให้หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว มอก.2424-2562 เป็นสินค้าควบคุม โดยเสนอร่างกฎกระทรวงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในกลางปี 2565

ปัจจุบัน สมอ. กำหนดมาตรฐานหน้ากากอนามัยและที่เกี่ยวข้อง เป็นมาตรฐานทั่วไป หรือมาตรฐานภาคสมัครใจ จำนวน 7 มาตรฐาน ดังนี้

1.มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว
2.มอก.2480-2562 หน้ากาก N 95
3.มอก. 3189-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N99 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์
4.มอก. 3190-2564 หน้ากากใช้ครั้งเดียวชนิด N100 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อทางการแพทย์
5.มอก. 3199-2564 หน้ากากผ้า
6.มอก. 2199-2547 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาค
7.มอก. 2382-2551 อุปกรณ์ปกป้องทางเดินหายใจ : ชนิดกรองอนุภาคดูดซับก๊าซและไอในขณะเดียวกัน

โดยมีผู้ประกอบการสมัครใจยื่นขอรับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2424-2562 หน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียว และได้รับใบอนุญาตแล้ว จำนวน 9 ราย ดังนี้

ลำดับ ชื่อผู้รับใบอนุญาต ออกให้ ณ วันที่ ระดับ 1 ใช้งานทั่วไป ระดับ 2 การแพทย์ทั่วไป ระดับ 3 ศัลยกรรม แบรนด์

1.บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) 21 ม.ค. 64 Welcare
2.บริษัท เมดิเชน จำกัด 15 มิ.ย. 64 MedCmask
3.บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด 6 ก.ค. 64 SureMask / G Lucky / KSG
4.บริษัท วิชัย เอ็นจิเนียริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด 25 ส.ค. 64 WCE Mask
5.บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด 27 ก.ย. 64 HYGUARD
6.บริษัท เอส.เจ.อีควิปเมนท์ แอนด์ แคร์ จำกัด 1 พ.ย. 64 GAMSAI
7.บริษัท เบฟเทค จำกัด 3 พ.ย. 64 BevTech
8.บริษัท เอ็มไนน์ เมดิคอล อีควิปเม้นท์ จำกัด 8 พ.ย. 64 M9
9.บริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด 17 พ.ย. 64 LIVE SEF

และมีผู้ได้รับใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน มอก. 2480-2562 หน้ากาก N 95 แล้ว จำนวน 1 ราย ดังนี้ ลำดับ บริษัท ประเภทที่ผ่าน มอก. แบรนด์

1.บริษัท มารีอา โปรดักส์ จำกัด แบบไม่มีลิ้นระบายอากาศ MARI-R

ต่อกรณีที่มีการแถลงข่าวดังกล่าว สมอ. ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ในจำนวน 41 ยี่ห้อนั้น มีผู้ประกอบการ 4 ราย ที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. ได้แก่ บริษัท ทีพีซีเอส จำกัด (มหาชน) บริษัท เคเอส โกลเด้น จำกัด บริษัท เอ็น.เอ็น.สกายเทรด จำกัด และบริษัท เฮลท์เวย์ ซัพพลาย จำกัด มีผลการทดสอบผลิตภัณฑ์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. จึงได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เนื่องจากหน้ากากอนามัยมาตรฐาน มอก. นั้น มี 3 ระดับการป้องกัน

ดังนี้ ระดับ 1 ใช้งานทั่วไป ระดับ 2 ใช้งานด้านการแพทย์ทั่วไป และระดับ 3 ใช้งานทางการแพทย์ในทางศัลยกรรม ซึ่งแต่ละระดับมีความเข้มข้นในการทดสอบต่างกัน และต้องตรวจสอบวันเดือนปีที่ผลิตหน้ากากอนามัยลอตที่ถูกสุ่มตรวจด้วย ซึ่งอาจจะมีความเป็นไปได้ที่ผลิตขึ้นก่อนได้รับใบอนุญาตตามมาตรฐาน มอก.

โดยขณะนี้ สมอ.ได้ส่งหน้ากากอนามัยของผู้ประกอบการทั้ง 4 รายไปทดสอบตามมาตรฐาน มอก. แล้ว และจะตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อขยายผลต่อไป นอกจากนี้ ยังได้ทำหนังสือแจ้งเตือนไปยังผู้ประกอบการทั้ง 10 รายที่ได้รับใบอนุญาต ให้ผลิตสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานอย่างสม่ำเสมอตามที่ได้รับใบอนุญาตจาก สมอ. หากตรวจสอบพบว่าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จะดำเนินการพักใช้ใบอนุญาตทันที

สำหรับหน้ากากอนามัยใช้ครั้งเดียวตามมาตรฐาน มอก. 2424-2562 นั้น กำหนดระดับการกรองน้อยสุด มีประสิทธิภาพในการกรองแบคทีเรียไม่น้อยกว่า 95% กรองอนุภาคขนาด 0.1 ไมครอนได้ ไม่น้อยกว่า 95% และสามารถป้องกันไม่ให้ของเหลวซึมผ่านได้ ซึ่งปัจจุบันยังเป็นมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการสมัครใจจะยื่นขอใบอนุญาตหรือไม่ก็ได้ แต่หลังจากที่ สมอ. ประกาศให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุมแล้ว จะเป็น
ผลให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่าย จะต้องผลิต นำเข้า และจำหน่ายเฉพาะสินค้าที่ได้รับอนุญาตจาก สมอ. เท่านั้น

หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งในระหว่างที่ สมอ. ดำเนินการประกาศเป็นสินค้าควบคุม และผู้บริโภคจำเป็นต้องซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้ ขอให้สังเกตเครื่องหมาย มอก. ก่อนซื้อทุกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน