หอการค้านานาชาติฯ เปิด 5 แผนงานเตรียมความพร้อมภาคธุรกิจหลังโควิด

พจน์ อร่ามวัฒนานนท์
พจน์ อร่ามวัฒนานนท์

หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) เผย “บทบาทหน้าที่ของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) ต่อภาคธุรกิจไทยกับเศรษฐกิจโลก หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 พร้อมเปิดแผนงานสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมให้ภาคธุรกิจ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผลักดันเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด

วันที่ 17 ธันวาคม 2564 นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานคณะกรรมการบริหาร หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้านานาชาติ หรือ International Chamber of Commerce (ICC) เป็นองค์กรเอกชนนานาชาติ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1919 โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนของภาคเอกชนกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ในการกำหนดและจัดทำกฎระเบียบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ โดยได้รับการยอมรับจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การการค้าโลก (WTO) โดย ICC เป็นองค์กรเอกชนแห่งเดียวที่ได้รับสถานะเป็นผู้สังเกตการณ์ถาวรในที่ประชุมใหญ่แห่งสหประชาชาติ

สำหรับหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย หรือ International Chamber of Commerce-Thailand (ICC Thailand) ในฐานะสมาชิกและตัวแทนของหอการค้านานาชาติ (ICC) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2542 โดยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะสนับสนุนภาคธุรกิจไทยให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดกฎระเบียบการค้าและการลงทุนในเวทีโลก และเป็นตัวแทนของภาคเอกชนไทยในการเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ปัจจุบันหอการค้านานาชาติฯ มีการบริหารงานโดยคณะกรรมการบริหารและดำเนินงานโดยผ่านคณะกรรมาธิการ (Commission) ด้านต่าง ๆ 10 สาขา เช่น ด้านอนุญาโตตุลาการและการระงับข้อพิพาท ด้านการธนาคาร ด้านกฎระเบียบและการปฏิบัติทางการค้า ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นต้น

ที่ผ่านมาหอการค้านานาชาติฯ ได้เป็นกระบอกเสียงให้กับภาคธุรกิจไทยในการเสนอข้อคิดเห็นและกำหนดกฎระเบียบทางการค้า ซึ่งเป็นที่ยอมรับและนิยมใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ได้แก่ กฎของหอการค้านานาชาติสำหรับใช้เป็นเงื่อนไขทางการค้า หรือ International Commercial Terms (Incoterms®), ประเพณีและวิธีปฏิบัติสำหรับเครดิตที่มีเอกสารประกอบ หรือ Uniform Customs and Practice for Documentary Credits (UCP) และข้อบังคับอนุญาโตตุลาการ (Arbitration Rules)

นอกจากนี้หอการค้านานาชาติฯ ได้เผยแพร่ความรู้ ข้อมูลสำคัญ และเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ ตลอดจนเป็นตัวกลางในการประสาน ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการค้าระหว่างประเทศ แก่สมาชิกและผู้ประกอบการ ผ่านเครือข่ายประเทศสมาชิกของ ICC กว่า 100 ประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกของไทยในปี 2565 ยังคงมีความท้าทายอยู่หลายปัจจัย ไม่ว่าจะโควิดสายพันธุ์ใหม่ ปัญหาค่าระวางเรือ ปัญหาด้าน Supply Chain Disruption และราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ค่าเงินบาท แรงงาน ล้วนมีผลกระทบโดยตรงและเป็นอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศของไทย ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา

สุริยนต์ ตู้จินดา

นายสุริยนต์ ตู้จินดา เลขาธิการ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในปี 2565 นี้ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ในฐานะองค์กรที่มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนการค้าระหว่างประเทศ จึงได้มุ่งเน้นแผนการดำเนินงานเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด 5 แผน ดังนี้

1.Bring Digitization to Support Digital Trade ICC สำนักงานใหญ่ได้ร่วมมือกับองค์กรนานาชาติและกลุ่มการค้าต่าง ๆ ในการผลักดันมาตรการต่าง ๆ เพื่อเข้าสู่การทำ Digitization ทั้งด้านกฎหมาย ด้านกฎระเบียบ การกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ รวมไปถึงการพัฒนาการเชื่อมโยงของข้อมูลผ่าน API

2.สนับสนุนภาคธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการผลักดันนโยบายสินเชื่อสีเขียว (Green Loan) ของสถาบันการเงิน 3.ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้อนุญาโตตุลาการในประเทศไทย 4.ยกระดับความรู้ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศของผู้ประกอบการให้ทัดเทียมระดับสากล 5.สนับสนุนให้ภาคธุรกิจคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์