เปิดส่วนแบ่ง “นำเข้า LNG” เพิ่มผู้เล่น ลดบทบาท ปตท.

นอกจากกระทรวงพลังงานจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือ LPG แบบสมบูรณ์ในวันที่ 1 สิงหาคม 2560 นี้แล้ว ภารกิจลำดับถัดไปคือการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่จะเปิดทางให้เอกชนที่สนใจนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG เป็นผู้นำเข้า และจองใช้ระบบสาธารณูปโภคคือ ท่าเรือ คลังและระบบท่อของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้คาดว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เร็ว ๆ นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะมีการนำเสนอ “แผนการแบ่งสัดส่วนนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว” (LNG National Plan : Portfolio) ที่มีการศึกษาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการใช้ที่เปลี่ยนแปลงไป

มาดูที่แผนการแบ่งสัดส่วนการนำเข้าก๊าซ LNG ฉบับใหม่ล่าสุดนี้ ได้ดำเนินการเปิด “ส่วนแบ่ง” ในรูปแบบสัญญาซื้อขายระยะยาว เพื่อให้เอกชนรายอื่นเป็นผู้นำเข้าซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการจะเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาในตลาดนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากสัญญาซื้อขายระยะยาวในปัจจุบันจะพบว่า ปตท.เป็นผู้นำเข้าทั้งหมด ประกอบด้วย กาตาร์ เชลล์ บีพี และปิโตรนาส

โดย นายปรศักดิ์ งามสมภาค ประธานคณะทำงานศึกษาและวางแผนจัดทำกระบวนการทำงานเพื่อจัดตั้งกอง LNG กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ระบุว่า สัดส่วนการนำเข้าที่เหลือเฉพาะสัญญาระยะสั้นนั้นถือว่า “ไม่เป็นธรรม” กับผู้เล่นรายใหม่ ๆ ดังนั้นคณะทำงานจึงต้องปรับสัดส่วนปริมาณการนำเข้าใหม่ ภายใต้สมมุติฐานที่ว่า ความต้องการใช้ก๊าซจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอย่างต่อเนื่อง และต้องแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจน แบ่งเป็น

1) สัญญาแบบ Non Long Term หรือไม่เกิน 3 ปี สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 และ 2 ) สัญญาแบบ Long Term หรือมากกว่า 5 ปี สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 70 ซึ่งแตกต่างจากผลการศึกษาเดิมที่กำหนดสัดส่วนของสัญญาระยะสั้น สัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 30 สัญญาระยะกลางอยู่ที่ร้อยละ 20 และสัญญาระยะยาวอยู่ที่ร้อยละ 50

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาตามแผนนำเข้าก๊าซ LNG ที่จะมีรวมทั้งสิ้น 10 ล้านตันนั้น จนถึงขณะนี้มีสัญญาซื้อขายโดย ปตท.แล้วรวม 5 ล้านตัน เท่ากับว่ายังเหลือปริมาณก๊าซ LNG ที่ต้องนำเข้าอีก 4.5 ล้านตัน ที่สามารถเปิดให้กับผู้เล่นรายใหม่ในตลาดนี้

นอกจากนี้นายปรศักดิ์ยังกล่าวอีกว่า การจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อมารองรับการใช้ในประเทศ จะต้องมีความสมดุลใน 3 ส่วนคือ 1) ราคาต้องเหมาะสม 2) เสริมความมั่นคงให้กับระบบ และ 3) ต้องเปิดเสรี หากรัฐเลือกสัญญาระยะยาว เพราะมองว่าไม่เสี่ยง แต่อาจจะไม่ได้ในเรื่องของราคา อย่างก๊าซ LNG จากประเทศกาตาร์อยู่ที่ 9 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากในขณะนั้น LNG เป็นตลาดของผู้ขาย สัญญาซื้อขายถัดมาก็จะเริ่มมีราคาถูกลง เปลี่ยนเป็นตลาดของผู้ซื้อ สำหรับราคาก๊าซ LNG ค่อนข้างอ่อนไหว จึงจำเป็นจะต้องมีทั้งสัญญาซื้อขายระยะยาวและระยะสั้น


สำหรับผู้ที่สนใจในธุรกิจก๊าซ ต้องเริ่มจากการยื่นขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก่อนเป็นลำดับแรก โดยล่าสุดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ใบอนุญาตเพื่อเป็นผู้ค้าก๊าซ LNG แล้ว เดิมทีนั้น กฟผ.ถือเป็นลูกค้าก๊าซรายใหญ่เพราะโรงไฟฟ้าของ กฟผ.ต้องใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงหลัก ที่สำคัญ กฟผ.ก็เตรียมลงทุนในโครงการคลังก๊าซลอยน้ำ หรือ FSRU (Floating Storage Regasification Unit) เพื่อนำก๊าซไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับโรงไฟฟ้าใหม่ในอนาคต นอกจากนี้ยังปรากฏชื่ออย่างบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี้ ดีเวลอปเม้นท์ จำกัด ที่กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมยื่นขอใบอนุญาตเป็นผู้ค้าก๊าซ LNG ด้วยเช่นกัน