ผู้ค้า ม.7 ค้านเพิ่มสำรอง LPG รัฐขีดเส้น 4 ปีขยายถัง ยันก๊าซไม่ขาดตลาด

ผู้ค้าก๊าซ LPG ค้านกรมธุรกิจพลังงาน สั่งสำรองเพิ่มเป็น 2.5% มองอาจเกินความจำเป็นและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคต้องร่วมรับภาระ ด้านกรมธุรกิจพลังงานยืนยันผู้ค้าต้องเพิ่มสำรองเพื่อความมั่นคง ให้เวลาเตรียมตัว 4 ปี ประกาศใช้เป็นทางการปี”64

แหล่งข่าวจากผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรมธุรกิจพลังงานได้เรียกผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 เข้าหารือประเด็นการเตรียมปรับเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซ LPG จากเดิมที่ร้อยละ 1 (ประมาณ 3 วัน) ให้เพิ่มเป็นร้อยละ 2.5 (ประมาณ 9 วัน) ซึ่งผู้ค้าก๊าซส่วนหนึ่ง “ไม่ต้องการ” ให้ปรับสำรองเพิ่มขึ้น เพราะ 1) จะต้องมีการลงทุนก่อสร้างถังเก็บรวมถึงคลังเพิ่มเติม โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นจะถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภค และ 2) หลังจากวันที่ 1 สิงหาคมนี้ กระทรวงพลังงานจะเปิดเสรีธุรกิจก๊าซ LPG แบบสมบูรณ์แล้ว เท่ากับว่าจะมีผู้ค้าก๊าซรายใหม่ ๆ สามารถนำเข้าก๊าซเองได้ ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณก๊าซ LPG ในระบบมีความมั่นคงมากขึ้น และ 3) การใช้ก๊าซ LPG ในปัจจุบันลดลงต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันที่ปรับลดลง และคาดว่ายังยืนราคาในระดับต่ำอีกนาน ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาเติมน้ำมันแทน ฉะนั้น การสั่งให้มีการสำรองเพิ่มขึ้นอาจเป็นการดำเนินการที่เกินความจำเป็นหรือไม่

นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า ตามเป้าหมายของกรมธุรกิจพลังงานต้องการให้ผู้ค้าก๊าซ LPG ที่จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มการสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 4 จากปัจจุบันที่ร้อยละ 1 (ไม่รวมการซื้อขายก๊าซ LPG ระหว่างผู้ค้ามาตรา 7 ด้วยกัน) แต่ภายหลังจากการหารือกับผู้ค้าก๊าซ LPG แล้วได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในช่วงเริ่มต้นให้เพิ่มการสำรองก๊าซ LPG ที่ร้อยละ 2.5 แทน โดยจะมีผลบังคับใช้เป็นทางการคือ 1 มกราคม 2564 เพื่อให้ผู้ค้าก๊าซได้ใช้เวลาในการเตรียมตัวขยายถัง หรือสร้างคลังก๊าซเพิ่มเติม เหตุผลสำคัญที่ต้องปรับเพิ่มปริมาณสำรองนั้น เนื่องจากเมื่อเปิดเสรีธุรกิจก๊าซอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 สิงหาคมนี้แล้วนั้น ภาครัฐจะไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงได้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์ เช่น ไม่มีการนำเข้าก๊าซ LPG พร้อมกันหลายราย อาจทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนก๊าซได้ จึงจำเป็นต้องปรับการสำรองดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ปริมาณก๊าซ LPG เกิดตึงตัวหรือมีแนวโน้มที่อาจจะขาดแคลนนั้น กระทรวงพลังงานได้เตรียมดูแลผู้บริโภคส่วนของครัวเรือนก่อน ด้วยการบริหารจัดการด้วยการโยกย้ายปริมาณก๊าซ LPG ที่ใช้ในภาคขนส่งมารองรับการใช้ในภาคครัวเรือนแทน เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ก๊าซ LPG สามารถสลับไปใช้น้ำมันได้ ส่วนในอนาคตจะมีการปรับเพิ่มสัดส่วนการสำรองมาอยู่ที่ร้อยละ 4 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากความต้องการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงเวลาดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ค่อนข้างเชื่อมั่นว่าความต้องการใช้จะปรับลดลง เพราะภาพของการใช้พลังงานจะเปลี่ยนมาใช้พลังงานในรูปแบบ “ไฟฟ้า” มากขึ้น ส่วนการซื้อขายก๊าซ LPG ในตลาดโลกจากเดิมที่อ้างอิงราคาและนำเข้าจากแหล่งผลิตในประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นส่วนใหญ่ หากนำเข้าจากแหล่งดังกล่าวจะต้องใช้เวลาขนส่งมาไทยประมาณ 15 วันนั้น แต่ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อก๊าซ LPG ได้จากประเทศจีน เกาหลีใต้ รวมถึงสิงคโปร์ที่ใช้เวลาในการขนส่ง 7-9 วันเท่านั้น จะเห็นได้ว่าผู้ซื้อมีทางเลือกมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐบริหารจัดการด้านพลังงานเพื่อรองรับความต้องการใช้ได้ดีขึ้น

“ตลาดก๊าซ LPG ต่อจากนี้ก็จะเปิดเสรี 100% ใครจะนำเข้าก็ได้ แต่ก็จะต้องมีกลไกเข้ามาดูแลเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขาดแคลน ในส่วนของการดูแลราคาก๊าซ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะทำหน้าที่ติดตามสถานการณ์ราคาในตลาดโลก พร้อมทั้งประกาศราคากลางไว้ เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ไม่ให้มีการขายแพง แต่ถ้ามีใครขายแพงกว่าปกติ กรมการค้าภายในก็จะเข้ามาดูแลร่วมด้วย”

นายวิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมถึงการใช้ก๊าซ LPG ในช่วงครึ่งปี 2560 ที่ผ่านมาว่า ภาพรวมอยู่ที่ 16.6 ล้านกิโลกรัม/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.3 อย่างไรก็ตาม การใช้ก๊าซ LPG ทุกภาคปรับเพิ่มขึ้น ทั้งภาคปิโตรเคมีที่การใช้อยู่ที่ 5.4 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.6 ในขณะที่การใช้ก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรมการใช้เฉลี่ยที่ 1.7 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ส่วนภาคครัวเรือนอยู่ที่ร้อยละ 5.8 ล้านกิโลกรัม/วัน หรือคิดเป็นร้อยละ 1.4 ยกเว้นก๊าซ LPG ภาคขนส่งอยู่ที่ 3.7 ล้านกิโลกรัม/วัน ลดลงร้อยละ 9.5