“บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” เกมรุกขับเคลื่อนน้ำตาลมิตรผล

สัมภาษณ์

ท่ามกลางการแข่งขัน และความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกธุรกิจ ‘กลุ่มน้ำตาลมิตรผล’ ผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาล อันดับที่ 4 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย ถือเป็นหนึ่งในผู้ประกอบอุตสาหกรรมเกษตรที่ปรับแนวรบอย่างรวดเร็ว เพื่อรับมือกับโลกอนาคตที่ท้าทาย ซึ่ง “บรรเทิง ว่องกุศลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มมิตรผล ได้มาเปิดวิสัยทัศน์การเดินเกมรุกที่จะก้าวไปข้างหน้ากับ “ประชาชาติธุรกิจ”

ปัจจุบันอัตรากำลังการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผลทั้ง 6 โรงงาน อยู่ที่ 2.15 แสนตันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2 หมื่นตัน หรือ 1.9 แสนตันต่อวัน และคาดว่าในปีนี้จะสามารถผลิตน้ำตาลได้ 21 ล้านตัน ใช้ระยะเวลาในการหีบ 100 วัน

ปัจจัยที่ทำให้มีการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะประเทศจีนมีการบริโภคเพิ่มขึ้น รวมถึงอินโดนีเซียที่เป็นตลาดส่งออกหลักของกลุ่มมิตรผลมีความต้องการนำเข้าเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกน้ำตาล 70% และจำหน่ายภายในประเทศ 30% มีส่วนแบ่งการตลาดในประเทศประมาณ 20%

หากย้อนไปในปีที่เกิดภาวะภัยแล้ง โดยเฉพาะช่วงเกิดเอลนิโญ ทำให้ผลผลิตอ้อยออกมาน้อย ส่งผลให้การผลิตน้ำตาลลดลงหลายสิบล้านตัน จากเดิมกลุ่มมิตรผลเคยเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลอันดับที่ 4 ของโลก ตกไปอยู่อันดับที่ 5 และปีที่ผ่านมาด้วยวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่ และแนวทางโมเดิร์นฟาร์ม ทำให้กลุ่มมิตรผลกลับมาอยู่อันดับที่ 4 ของโลกอีกครั้ง และเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำตาลมากเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย

โดยหลักการจัดการตามแบบโมเดิร์นฟาร์ม ถือเป็นนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการไร่อ้อย เกิดจากการศึกษาวิธีการผลิตการทำไร่อ้อยในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่สามารถปลูกอ้อยได้ผลผลิตต่อไร่สูงที่สุดในโลก

จากนั้นนำเทคนิคและความรู้ที่ได้มาปรับใช้กับประเทศไทย โดยมีทฤษฎี 4 เสาหลัก ที่มีน้ำเป็นฐานที่สำคัญ ประกอบด้วย การปลูกพืชบำรุงดิน ลดการไถพรวน ลดการอัดหน้าดิน และลดการเผาใบอ้อยโดยใช้รถตัด ขณะเดียวกันต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดในการทำไร่อ้อย ทั้งความรู้ที่ถูกต้องทั้งด้านวิชาการ แปลงสาธิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ อย่างระบบฟาร์มอัจฉริยะเพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่ ระบบการจัดการน้ำในไร่ ซึ่งเป็นการสร้างวิถีการทำเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประโยชน์จากการจัดการไร่อ้อยแบบโมเดิร์นฟาร์ม ช่วยเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เนื่องจากลดการบดอัดของชั้นหน้าดิน สามารถลดต้นทุนการผลิตลงกว่า 25% จากเดิมอยู่ที่ไร่ละ 8,000 บาท ลดลงมาอยู่ที่ 5-6 พันบาท และสามารถเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร ลดปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรกรรมด้วย

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า กลุ่มมิตรผลยังส่งเสริมให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกในการผลิตอ้อยและน้ำตาลอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยยกระดับภาคการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมอ้อยของไทยสู่สากล

ในการส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยให้ได้ Bonsucro นั้น กลุ่มมิตรผลได้มีการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการรวมแปลง ไร่ละ 700-1,000 บาท ในการรื้อหินและตอซังอ้อยเดิมออกจากแปลง โดยในแต่ละปีใช้งบฯราว 300 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ให้ฟรีกับเกษตรกร ในขณะที่งบฯส่งเสริมเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ผ่านมา ทั้ง 7 โรงงาน อยู่ที่ราว 7,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี

ทั้งนี้ กลุ่มมิตรผลตั้งเป้าหมายที่จะได้รับการรับรองมาตรฐาน Bonsucro ไว้ที่ 400,000 ไร่ ภายในปี 2564 และคาดว่าจะสามารถผลิตน้ำตาลดิบภายใต้มาตรฐาน Bonsucro ได้ถึง 600,000 ตัน

ขณะเดียวกัน ในกระบวนการผลิตน้ำตาลของกลุ่มมิตรผล สามารถใช้ประโยชน์ได้ตั้งแต่โคนถึงยอด โดยที่ยอดนั้นนำไปทำเป็นปุ๋ยหมักดิน ส่วนลำต้นหลังจากหีบสามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงได้ และส่วนโคนต้นและเหง้าสามารถนำมาทำปุ๋ย และส่วนที่เหลือจากการกลั่นเอทานอลยังเป็นสารปรับปรุงดิน โดยกลุ่มมิตรผลได้มีพัฒนาต่อยอดทางด้านนวัตกรรม จนสามารถช่วยในการปรับปรุงดิน ซึ่งจะถูกนำไปแจกจ่ายให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริม ถือว่าเป็นการใช้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ โดยที่ไม่ต้องทิ้งส่วนใดส่วนหนึ่ง และนับเป็นกระบวนการแบบ zero waste

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า แม้ปัจจุบันจะมีกระแสสังคมในเรื่องของการลดการบริโภคน้ำตาล ส่งผลทำให้ราคาน้ำตาลถูกลง จึงเกิดเป็นคำถามว่าจะทำอย่างไรให้อ้อยที่เป็น core value ของกลุ่มมิตรผล จะสามารถพัฒนาเป็นสินค้าและผลิตภัณฑ์ประเภทอื่น

กลุ่มมิตรผลมีศูนย์นวัตกรรมและการวิจัย (RDI-Research Development and Innovation) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่ม productivity และ value ad-der ให้กับอ้อย ขณะเดียวกันเป็นการเตรียมความพร้อมในการขยายธุรกิจ ที่ผ่านมากลุ่มมิตรผลได้ร่วมทุนกับบริษัท Dynamic Food Ingredients (DFI) สหรัฐอเมริกา วิจัยสารให้ความหวานจากแป้งหรือน้ำตาลที่มีแคลอรีต่ำ 2 ชนิด คือ อีริทริทอล (Erythritol) และไซลีทอล (Xylitol) โดยใช้วัตถุดิบจากพืชเกษตรที่ปลูกในเมืองไทย

และเมื่อรัฐบาลมีนโยบายพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ทำให้กลุ่มมิตรผลมีความสนใจจะเข้าไปลงทุน โดยจะนำน้ำตาลที่มีอยู่แล้วไปต่อยอดหรือเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ไบโอพลาสติก ฟาร์มาซูติคอล และการผลิตสารให้ความหวานที่มีแคลอรีต่ำ อย่างอีริทริทอล และไซลิทอล ตลอดจนผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษา

และโครงการที่จะลงทุนในอีอีซี ถือเป็นโครงการไม่ใหญ่ และมีมูลค่าไม่สูงมาก คาดว่าในอีก 5 ปี จะเห็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ออกมาสู่ตลาด

“นายบรรเทิง” กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนนั้น กลุ่มมิตรผลมีแผนที่จะลงทุนใหม่นอกจากโครงการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลที่ จ.อำนาจเจริญ ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่ในพื้นที่ อ.หนองบัวแดง และ อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ซึ่งได้รับใบอนุญาตในการก่อสร้างและเปิดโรงงานแห่งใหม่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างทำการศึกษาข้อมูลการก่อสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่นี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง เหมือนเอาตลาดไปอยู่ใกล้กับผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อยมากยิ่งขึ้น

ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศนั้น กลุ่มมิตรผลมีแผนจะไปร่วมทุนกับพันธมิตรทางธุรกิจที่ประเทศอินโดนีเซียในการปรับปรุงโรงงานนํ้าตาลและปลูกอ้อย ซึ่งอินโดนีเซียถือเป็นตลาดส่งออกใหญ่ในอาเซียนของกลุ่มมิตรผล โดยผู้ร่วมทุนมีโรงงานและพื้นที่อยู่แล้ว และกลุ่มมิตรผลจะเข้าไปส่งเสริมเรื่องการปลูกอ้อย การทำโมเดิร์นฟาร์ม เพื่อขยายพื้นที่ต่อไป