“ชาวประมง-เครือข่ายหนี้สินชาวนา” ตบเท้า พบ “กฤษฎา” รมว.เกษตรฯ

ผู้สื่อข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า เมื่อเวลา 15.00 น.เครือข่ายหนี้สินชาวนา และชาวประมง กว่า 300 คน ได้ขอเข้าพบเพื่อหารือถึงข้อเรียกร้องต่อนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

นายกฤษฎา เปิดเผยว่าหลังจากรับฟังข้อเรียกร้องในการแก้ไขปัญหาเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร ว่า ตนจะทำตามข้อร้องเรียน 2 ข้อ โดยข้อแรกคือ จะดูแลกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และปรับปรุงคณะกรรมการของเจ้าหน้าที่ ทั้งระดับอนุกรรมการจังหวัดและกรรมการกองทุนในกรุงเทพ ให้ทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือตามระเบียบกฎหมายที่ให้เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่มีหนี้สิน โดยจะเพิ่มตัวแทนของเกษตรกรเข้ามาเป็นกรรมการหรืออนุกรรมการในกองทุนฟื้นฟูฯ ด้วย เพื่อรับฟังปัญหาจากเกษตรกรโดยตรง

ส่วนข้อที่สอง จะเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรให้เสร็จภายในระยะเวลาที่เหลืออยู่ 150 วัน หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ให้เวลาแก้ไขปัญหาแก่คณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจจำนวน 180 วัน

“ต่อไปถ้าจะมาพบตน มาเพียงแค่ 5 คน10 คนก็พอที่พูดกับตนรู้เรื่อง ไม่ต้องพามาเยอะ ถ้าเกิดมา 5 คน 10 คนแล้วตนไล่กลับบ้าน แสดงว่าตนไม่รับแขก อันนี้มาได้ เหตุผลที่บอกแบบนี้ เพราะเกษตรกรเป็นหนี้เป็นสิน ควรจะอยู่ทำมากินที่บ้านดีกว่า มาเยอะแล้วเสียเวลา เสียเงิน และต่อไปอนุกรรมการหรือกรรมการก็จะมีพวกท่านแล้ว ก็ร้องเรียกผ่านตัวแทนอนุกรรมการมาได้”

นายชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย(คนท.) เปิดเผยว่า สำหรับปัญหาที่อยากให้กระทรวงเกษตรฯ ช่วยแก้ไข มีทั้งหมด 3 ข้อ ได้แก่ 1.ขอให้รมว.เกษตรฯ เป็นรองประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูฯ 2.ขอให้คณะอนุกรรมการฯ ที่มีอยู่ทุกคณะดำเนินงานจัดการประชุมพิจารณาปัญหาที่คั่งค้าง และ3.ขอให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าร่วมในคณะกรรมการฯ ทุกคณะ

ทั้งนี้ นายกฤษฎา กล่าวถึง การเข้าพบของ นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมประมงปัตตานีตัวแทนจากชาวประมงชลบุรี และสมาคมเรือประมงนอกน่านน้ำว่า ได้ร้องเรียนถึงการบังคับใช้ พระราชกำหนด (พรก.) การประมง 2558 ได้ส่งผลกระทบกับชาวประมงในหลายด้านซึ่งบางอย่างเป็นมาตรการที่เข้มงวดเกินไป ดังนั้นจึงจะนำมาหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกับตัวแทนประมงทั้ง 57 สมาคม ด้วย และอะไรที่ผ่อนปรนได้ก็จะเร่งดำเนินการให้ ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลต้องแก้ปัญหาเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร

นายภูเบศ กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรปหรืออียู กรณีการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม หรือไอยูยู เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้เข้ามาแก้ปัญหาทั้งระบบโดยประกาศใช้มาตรการที่เข้มงวดในระยะเวลาอันสั้น บางอย่างจึงส่งผลกระทบกับชาวประมงที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน บางมาตรการก็ไม่สามารถจะปฏิบัติได้ ดังนั้น จึงอยากให้กระทรวงเกษตรฯพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมกับแก้ไขให้ถูกต้อง


รวมทั้ง การเปิดบัญชีเงินฝากของลูกเรือปประมงพร้อมกับให้จ่ายค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ให้แล้วเสร็จ โดยประกาศเมื่อวันที่ 31 ต.ค. และประกาศใช้วันที่ 1 พ.ย.2560 นั้นกลุ่มเรือประมงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากลูกจ้างส่วนใหญ่เป็นต่างด้าว การทำเอกสารต้องใช้ระยะเวลา ในขณะที่เอกสารของธนาคาร บางแห่งมีเพียงภาษาพม่า ไม่มีภาษากัมพูชา บางแห่งไม่มีภาษาต่างด้าวเหล่านี้ อีกทั้งการจ่ายค่าแรงเป็นรายเดือนยังเป็นภาระกับผู้ประกอบการเพราะวันทำประมงแต่ละปีมีเพียง 220 วันเท่านั้น