“บี.กริม-โออาร์” ไม่ทิ้งเมียนมา จับตาปะทะเดือดชายแดนฉุดเศรษฐกิจ

ชายแดนเมียนมา

เมียนมาลุ้นปรับแผนเปิดเมือง ด้านบิ๊กธุรกิจไทย “บี.กริม-โออาร์” จับตาสถานการณ์ใกล้ชิดก่อนตัดสินใจคิกออฟลงทุน ย้ำเมียนมายังเนื้อหอมไม่ม้วนเสื่อหนี ด้านสภาธุรกิจชี้ปี’64 ทั้งปีเศรษฐกิจทรุด 8% ปี’65 ต้องลุ้นรัฐบาลจัดเลือกตั้งตามแผนหลังโควิดคลี่คลาย-เปิดรับต่างชาติ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เดิมหม่อง หม่อง ออน รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศของเมียนมาออกมา เปิดเผยว่า เมียนมาจะกลับมาเปิดประเทศและพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติอีกครั้ง เพื่อปูทางการลงทุนจากต่างประเทศและการฟื้นตัวของธุรกิจ

เบื้องต้นเปิดจุดผ่านแดนทางบกกับจีนและไทยในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางที่ด่านมูแซ ในเมียนมา ซึ่งมีพรมแดนติดกับเมืองรุ่ยลี่ ในมณฑลยูนนาน และที่เมืองท่าขี้เหล็ก, เกาะสอง และบ้านทิกิ ของเมียนมา 3 เมืองซึ่งมีพรมแดนติดกับประเทศไทย

อีกทั้งหาดพุกาม ทะเลสาบอินเล และหาดงาปาลี ชองทา และหง่วยวง ได้รับการจัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม จะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวได้โดยกองทัพและตำรวจจะดูแลความปลอดภัย พร้อมทั้งจะมีการออกระเบียบการผ่อนปรนข้อจำกัดการเดินทางที่ชายแดน ตารางเที่ยวบินระหว่างประเทศในเดือนมกราคม 2565

โดยจะรอให้อัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพิ่มขึ้นเป็น 50% ของประชากรภายในสิ้นปี 2564 และจะฉีดครบภายในเดือนเมษายน 2565 แต่ก็เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2564 ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการตามแผนหรือไม่

ดร.ธนวุฒิ นัยโกวิท อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์ (ทูตพาณิชย์) ประจำสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการปิดด่านการขนส่งสินค้ายังสามารถทำได้ เบื้องต้นสถานการณ์การปะทะกันช่วงวันที่ 27 ธันวาคม 2564 เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบริเวณแนวชายแดนเฉพาะจุด จำกัดพื้นที่ ซึ่งไม่น่าจะรุนแรงไปกว่านี้

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลอาจจะมีการปรับเปลี่ยนอีกได้ และจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอน ทำให้อาจมีการปรับแผนเปิดประเทศ และขณะนี้ยังไม่ได้มีการออกประกาศเรื่องการผ่อนปรนการเดินทาง

นายกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์เศรษฐกิจเมียนมาหลังจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2564 หดตัว 18% ส่วนในปี 2565 ยังอยู่ระหว่างการประเมิน แต่คาดว่าจะไม่ขยายตัวมากนัก โดยผู้บริโภคยังมีพฤติกรรมระมัดระวังการใช้จ่าย หากเทียบกับก่อนที่จะมีโควิดซึ่งผู้ประกอบการต้องระมัดระวังการให้เครดิตในการชำระค่าสินค้า

ซึ่งการประกอบธุรกิจในเมียนมาจะมีความคล้ายคลึงกับยุคก่อนปี ค.ศ. 2000 ต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น ต้องพิจารณาการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป และติดตามสถานการณ์นโยบายที่ชัดเจนก่อน

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบประชาชนต่างเบิกถอนเงินจากธนาคารทั่วไป ธนาคารหลายแห่งหยุดให้บริการช่วงสั้น ๆ หลายครั้ง ส่งผลต่อสถานะธนาคารมีความเสี่ยงปัญหาล้มละลาย ส่งผลทำให้ไม่มีเม็ดเงินเข้าไปในท้องตลาด เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ เช่น การจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชนขาดหายไป ส่งผลให้เกิดการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจนมาก การประกอบกิจการ ลงทุน การบริโภคมีความระมัดระวังมากขึ้นจนถึงปัจจุบันและคาดว่าจะยังต่อเนื่องไปในปี 2565″

“แต่ต้องติดตามว่าจะมีการเลือกตั้งตามที่รัฐบาลทหารขอเวลา 2 ปีในการจัดระเบียบประเทศให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการเลือกตั้งใหม่ เชื่อว่าหากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้วจะสามารถจัดการการเลือกตั้งใหม่ได้”

อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยไปเมียนมายังมีโอกาสที่จะขยายตัวเพิ่ม ซึ่งทางสภาธุรกิจฯได้ประชุมหารือเพื่อลดปัญหาอุปสรรค โดยเฉพาะเขตเชียงของ แม่สาย เชียงแสน เพื่อขยายการส่งออกให้มากขึ้น โดยในปี 2565 นโยบายการบริหารเศรษฐกิจเมียนมายังมุ่งเน้นส่งเสริมการค้าชายแดนเป็นหลัก เพื่อลดทอนปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ โดยขณะนี้การค้าชายแดนไทย-เมียนมายังดำเนินการได้ปกติ ส่วนระหว่างเมียนมา-จีนยังคงไม่สามารถเดินหน้าได้

โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ เครื่องดื่ม น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญของไทย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติ พืชและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่น ๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เนื้อสัตว์ เป็นต้น

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริมและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM เปิดเผยถึงโอกาสการขยายการลงทุนในเมียนมาว่า ก่อนหน้านี้ บี.กริมฯมีแผนจะเข้าไปลงทุนร่วมกับกลุ่มอมตะเพื่อพัฒนาสมาร์ทซิตี้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นจึงชะลอแผนไว้ก่อน ส่วนในปี 2565 ทางเรากำลังพิจารณาอยู่

“การใช้มาตรการของรัฐบาลที่มีการใช้ความรุนแรงกับประชาชนที่ต่อต้านในแง่ของยุโรปก็ไม่อยากดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจด้วย แต่สำหรับเมืองไทยจะทำอย่างนั้นไม่ได้ ไทยต้องพยายามประนีประนอมกับเมียนมา ยกตัวอย่างครอบครัวผมโตที่ประเทศเยอรมนีซึ่งมีพรมแดนห่างจากรัสเซียแค่ 1 ชั่วโมง ถ้ารบกันเราหนีไม่ทัน ฉะนั้น เยอรมนีก็พยายามรักษาความสัมพันธ์แม้ว่าเราจะไม่ยอมรับระบบของเขา แต่มันไม่มีประโยชน์ที่จะไปรบกับเพื่อนบ้านจะมีแต่ปัญหา เมียนมาก็เป็นโอกาสการลงทุน”

นายพิจินต์ อภิวันทนาพร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารการเงิน บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนการลงทุนในเมียนมาปี 2565 ต้องพิจารณาดูเหตุการณ์อีกครั้งว่าจะเป็นอย่างไร เดิมทางโออาร์อยู่ระหว่างลงทุนสร้างสถานีบริการน้ำมัน 2 แห่ง และคลัง 1 แห่ง ซึ่งจากที่เกิดเหตุการณ์ที่ให้มีกฎหมายไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมกัน การก่อสร้างภาพรวมต้องชะลอออกมาแต่ยังสามารถดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์ที่นำเข้าไปแล้วบางส่วนได้

แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าเมียนมามีศักยภาพมากโดยนอกจากธุรกิจน้ำมันแล้วก็มีธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมัน (น็อนออยล์) ร้านคาเฟ่อเมซอนที่จะขยายเข้าไป ซึ่งมีนักลงทุนที่ให้ความสนใจจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ไม่ได้รุนแรงแต่ยืดเยื้อกว่าที่คิดหากคลี่คลายตลาดเพื่อนบ้านก็ถือเป็นตลาดที่โออาร์ให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรก