กรมปศุสัตว์ ยังไม่ยอมรับ โรคASFระบาดในหมู ระดมเช็กทั่วประเทศ

กรมปศุสัตว์ระดมพลตรวจสอบฟาร์มหมูทั่วประเทศ หาสาเหตุการเกิดโรคระบาด

กรมปศุสัตว์ระดมพลตรวจสอบ ค้นหาสอบสวนโรคทุกพื้นที่ เน้นย้ำเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม เพื่อเฝ้าระวัง และป้องกันการเกิดโรคระบาด ASF ในสุกร วอนเกษตรกรเฝ้าระวัง ชี้จำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น

วันที่ 8 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวว่าขณะนี้มีการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั้งนี้โรค ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆใน 35 ประเทศทั่วโลก หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค

นอกจากนี้เชื้อไวรัสที่ก่อโรคยังมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ในปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ

​จากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที

โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย รวมทั้งดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด

“กรมฯห่วงใยเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกท่าน การลดความสูญเสียจากการระบาดของโรคในระยะยาว มีความจำเป็นต้องดำเนินมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น โดยได้สั่งการให้หน่วยเฉพาะกิจ ดำเนินการค้นหาและสอบสวนโรคเพื่อหาสาเหตุการระบาดของโรคสุกร และขอความร่วมมือเกษตรกรให้ความสำคัญในการดูแลสุกรของตนอย่างใกล้ชิดให้มีสุขภาพสมบูรณ์ แข็งแรง และให้ความสำคัญในเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม มีคอกคัดสัตว์เพื่อขายแยกจากฟาร์มเพื่อป้องกันพ่อค้าที่รับซื้อสุกรอาจนำเชื้อมาสู่ฟาร์ม โดยเฉพาะการพ่นยาฆ่าเชื้อทุกครั้งก่อนเข้าและออกจากบริเวณฟาร์ม”