
ลุ้นต่ออนุญาโตตุลาการข้อพิพาท “เชฟรอน-ไทย” ปมแหล่งเอราวัณยังเดินหน้าไต่สวนพยาน ไม่หวั่นโควิด หลัง ปตท.สผ.รับไม้ต่อ 23 เม.ย.นี้ ไทยจ่อนำเข้า LNG ก่อนเคาะค่าไฟเอฟทีงวด 2/65
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าของการดำเนินการตามกระบวนการอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัทเชฟรอน คอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ (เดิม) จากสหรัฐอเมริกา ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการกับไทยว่า
ขณะนี้อยู่ในช่วงให้ส่งเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา โดยเบื้องต้นได้มีการตั้งอนุญาโตตุลาการจาก 3 ประเทศ ที่มีความเป็นกลางและไม่ได้อยู่ในภูมิภาคอาเซียน โดยหลังจากส่งเอกสารแล้วเสร็จ ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการสืบพยานในลำดับต่อไป โดยกระบวนการทั้งหมดยังสามารถดำเนินการได้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงโควิด ทางคณะได้ปรับให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์
ส่วนกระบวนการเปลี่ยนผ่านแหล่งเอราวัณนั้น ทางเชฟรอนจะส่งมอบพื้นที่ในวันที่ให้กับผู้รับสัมปทานใหม่ บริษัท ปตท.สผ. เอ็นเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (PTT ED) บริษัทในกลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ตามสัญญาแบ่งเป็นผลผลิต (PSC) ในวันที่ 23 เมษายนนี้
ทางกรมเราทำซีนาริโอพิจารณาดูว่าศักยภาพหลุมที่เหลือ 2 รายนี้จะร่วมชี้เป้ากันอย่างไรได้บ้าง และเมื่อชี้เป้าเสร็จ ทาง PTT ED ก็ต้องเร่งลงทุนให้เร็วที่สุด ซึ่งซีนาริโอเวิร์สต์เคส คือตามที่ ปตท.สผ.ออกข่าวไปคือ เร่งฟื้นกำลังการผลิตมาใน 24 เดือน ระหว่างนี้ต้องมีการนำเข้าก๊าซ ซึ่งเรื่องนำเข้าก๊าซต้องเข้าใจว่าถึงอย่างไร ไทยก็ต้องนำเข้าอยู่แล้ว
เหตุผลที่นำเข้าคือความต้องการใช้เพิ่มขึ้น เนื่องมาจากสถานการณ์โควิดดีขึ้น แต่ไม่ต้องกังวล เพราะถึงแม้ว่าแหล่งเอราวัณช่วงแรกจะยังไม่สามารถผลิตได้เต็มศักยภาพ แต่ไม่ถึงขั้นไฟดับ เพราะตามนโยบายของรองนายกฯ ต้องทำให้ไฟไม่ดับ
ส่วนสถานการณ์ราคาไฟฟ้าผันแปร หรือเอฟที ที่ปรับสูงขึ้นนั้น ไม่ได้มีสาเหตุมาจากแหล่งเอราวัณผลิตไม่เต็มศักยภาพ แต่เป็นเพราะตอนนี้ราคาก๊าซแอลเอ็นจีในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเมื่อปี 2563 ราคาอยู่ที่ 2 เหรียญสหรัฐกว่าต่อล้านบีทียู และปี 2564 ขึ้นไปถึง 40 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เรียกว่าเป็นหนังคนละม้วน เป็นเรื่องที่ทั้งโลกเผชิญอยู่
อย่างไรก็ตาม มีอีกมุมหนึ่งคือ ตอนนี้ราคาก๊าซบงกชอยู่ที่เกือบ 300 บาทต่อล้านบีทียู แต่เมื่อถึงเดือนเมษายน 2565 ก็จะได้ผลประโยชน์จากที่ประมูลมาอยู่ที่ประมาณ 116 บาทต่อล้านบีทียู ราคาก๊าซในอ่าวก็ลดไปอยู่แล้ว ก็ช่วยราคาก๊าซในประเทศระดับหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อค่าเอฟทีงวดถัดไป หากถูกดึงลง แต่ต้องเทียบว่าส่วนที่ดึงลงไปนี้ เทียบกับส่วนที่ราคาแอลเอ็นจีในตลาดโลกที่เพิ่มมา 20 เท่า จะหักล้างกันได้หรือไม่
“ประเด็นที่บริษัทคู่สัญญาเดิมปรับลดการผลิตลงในช่วงท้ายของสัญญาเหลือเพียง 560 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากที่ผลิตเดิม 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันนั้น มองว่าเป็นไปตามสัญญา ช่วงท้ายของสัมปทานในโลกนี้จะเป็นลักษณะนี้ คือทุกคนที่จะหมดสัญญาก็จะไม่ลงทุนใหม่ ส่วนหลังจากนี้เชฟรอนจะลงทุนอะไรใหม่ในประเทศไทยอีกหรือไม่ ยังไม่เห็นการลงทุน ต้องรอดูภาพใหญ่เชฟรอน”
รายงานข่าวระบุว่า ก่อนหน้านี้ทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้รายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ หลังจากบริษัทเชฟรอนยื่นฟ้องรัฐบาลไทยเพื่อขอให้นำข้อพิพาท หาผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณ
ขณะเดียวกัน กระทรวงพลังงาน ได้เสนอ ครม.เพื่อเตรียมงบประมาณสำหรับใช้ต่อสู้คดีนี้ไว้ประมาณ 450 ล้านบาท ในการจ้างที่ปรึกษาทางกฎหมายทั้งในและต่างประเทศ ส่วนการนำเข้าก๊าซธรรมชาตินั้น ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 65 มีมติให้ ปตท.จัดหา LNG เพิ่มอีก 4.5 ล้านตัน