คิดให้ดี ยกเลิกโซฮอล์ 91

คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล


ตามที่กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะยกเลิกน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 นั้น จะมองข้ามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนไม่ได้ เพราะผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย ใช้รถขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น เมื่อไปดูราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 หน้าโรงกลั่นในปัจจุบัน มีราคาถูกกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ราว ๆ 20 สตางค์/ลิตร

การใช้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือเพื่อให้ราคาแก๊สโซฮอล์ 91 เท่ากับแก๊สโซฮอล์ 95 สามารถทำได้ แต่ “ไม่ยุติธรรม” ต่อผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และถือว่าไม่มีธรรมาภิบาล เมื่อมีการประกาศยกเลิก ก็เท่ากับว่าประชาชนไม่มีทางเลือก นอกจากนี้หากราคาแก๊สโซฮอล์ 95 ปรับตัวสูงขึ้นก็จะไม่มีตัวเปรียบเทียบราคาอีกต่อไป ดังนั้นภาครัฐควรมีทางเลือกให้กับประชาชนด้วย

หากต้องการเพิ่มการใช้เอทานอลให้มากขึ้น กระทรวงพลังงานอาจจะลองศึกษาในประเด็นการปรับสัดส่วนการผสมใหม่ แทนที่จะมีแค่ E10 เช่น E11 ไปจนถึง E22 เพราะการเพิ่มสัดส่วนผสมเอทานอลที่ 1-2% นั้นไม่ยุ่งยากอะไร รวมถึงคุณภาพน้ำมันก็ยังสามารถควบคุมได้แบบเดิม แต่สามารถเพิ่มปริมาณการใช้ได้อีกน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่ดีกว่าการยกเลิกแก๊สโซฮอล์ 91 อย่าฟังความเห็นจากบริษัทน้ำมันมากจนเกินไป ว่าไม่มีหัวจ่าย E20 แต่ทำไมถึงมีหัวจ่ายน้ำมนดีเซลเกรดพรีเมี่ยมราคาแพงได้

ทั้งนี้ขอให้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คิดในประเด็นนี้ให้รอบคอบ เพราะขณะนี้เรื่องปฏิรูปพลังงานถือเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการ “ปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน” เพราะสูตรราคา ณ โรงกลั่นนั้นใช้มานานมาก ถ้ามองในแง่ความคุ้มทุนทุกโรงกลั่นในประเทศถือว่าคืนทุนกันหมดแล้ว จึงควรปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติด้านพลังงาน นำเสนอประเด็นด้านพลังงานแต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ขอให้กระทรวงพลังงานพิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน เพราะจะทำให้ราคาน้ำมันลดลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชนได้อีกด้วย ในต่างประเทศมีการจำหน่ายน้ำมันออกเทนต่ำและสูงเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือก และแท้ที่จริงแล้วนั้น น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่ผลิตจากหน้าโรงกลั่นก็มีออกเทนสูงอยู่ที่ 92-93 ที่เพียงพอสำหรับรถยนต์ทั่วไปอยู่แล้ว

ที่สำคัญคือ ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนที่จะต้องรีบเร่งตัดสินใจ ถ้าเทียบกับการเตรียมเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุ คือแหล่งบงกช และแหล่งเอราวัณ รวมถึงการเปิดให้สิทธิ์สำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ว่าจะเดินหน้าต่ออย่างไร ควรจะมีความชัดเจนได้แล้ว เพราะยิ่งช้าก็จะยิ่งส่งผลกระทบต่อประเทศ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่ภาคใต้ เพราะยังคงมีการต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และเทพานั้น จะเดินหน้า

อย่างไรต่อไป ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ก็ขยายตัวอย่างมาก แต่ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไรก็ขอให้นึกถึงประชาชน ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน