เกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ เมื่อโรงสีกลายเป็นผู้ส่งออก

สัมภาษณ์

การค้าข้าวในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จนการดำเนินธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง อาทิ โรงสีข้าวแต่เพียงอย่างเดียว เริ่มไม่ตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์” นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ถึงทิศทางของผู้ประกอบการโรงสีข้าว จะต้องปรับตัวอย่างไรเพื่อรองรับสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนไปมาก

โรงสีกลายเป็นผู้ส่งออก

สมาชิกของสมาคมโรงสีข้าวไทย ตอนนี้ก็มีประมาณกว่า 800 ราย ซึ่งสมาชิกในสมาคมก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น เป็นผู้ส่งออกหรือเป็นผู้ค้าข้าวที่ไม่มีโรงสีเป็นของตัวเอง และกลุ่มที่มีโรงสีเป็นของตัวเอง และประกอบการค้าข้าวส่งออกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังคงประกอบธุรกิจโรงสีกันอยู่ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของสมาชิกโรงสีในปัจจุบันจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก จากเดิมที่ผู้ประกอบการโรงสีลดลงไปมาก เนื่องจากการเลิกกิจการ แต่ตอนนี้มีสมาชิกเพิ่มขึ้นและขยายธุรกิจออกไป

โดยจะเห็นได้จากยอดการส่งออกข้าวต่อปีที่ประมาณ 10 ล้านตัน จะเป็นการส่งออกจากโรงสีประมาณ 30% หรือประมาณ 3 ล้านตัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้น โดยสมาชิกของเรามีทั้งผู้ส่งออกข้าวรายเล็ก รายกลาง จนไปถึงรายใหญ่ ขณะนี้มีการรับรองสมาชิกโรงสีที่ทำการส่งออก ประมาณ 200 ราย จากสมาชิกทั้งหมด

ส่วนการทำตลาดข้าวภายในประเทศ ซึ่งเดิมเราขายข้าวผ่านยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว หรือผู้ผลิตข้าวถุง ตอนนี้โรงสีเริ่มเข้ามาทำการตลาดเอง ทำให้เราเข้าถึงผู้บริโภค หรือเป็นการเพิ่มช่องทางการค้าด้วยตนเอง หากถามผมว่า โรงสีอยากไปเป็นผู้ส่งออกข้าวมั้ย คำตอบส่วนใหญ่คือ ไม่ เนื่องจากมีความยุ่งยาก แต่ต้องยอมรับว่าโลกมันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว และเพื่อความอยู่รอดของกิจการ โรงสีเราก็ต้องปรับตัว จึงเห็นว่ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่เกิดขึ้นในกิจการนี้

เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เข้ามา

ตอนนี้โรงสีเข้าสู่ระบบการค้ามากขึ้น และกลายเป็นนักลงทุน เข้าไปซื้อข้าวของชาวนาด้วยการจ่ายเงินสด แต่ขายข้าวออกไปในระบบเครดิต 2-3 เดือน มีการลงทุนเครื่องจักรที่ทันสมัยเพื่อลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการสีข้าว การปรับตัวของโรงสีทำให้มีผู้เล่นในตลาดข้าวมากขึ้น เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบการค้าข้าว โดยชาวนาก็จะมีทางเลือกในการขายข้าวในตลาดจากผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีได้เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นโรงสีต้องเดินตามให้ทันเทรนด์ที่เปลี่ยนไป เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต แต่ก็ต้องยอมรับว่า โรงสีข้าวส่วนใหญ่ยังไม่สามารถปรับตัวรับกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปได้ทัน เนื่องจากติดปัญหาในเรื่องของเงินทุน ส่วนการขอสินเชื่อจากธนาคารก็ยากมากขึ้น โดยเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาก็จะเป็นเรื่องของการพัฒนาการสีข้าว-บรรจุภัณฑ์ ในส่วนนี้ทางกรมการค้าภายในก็ได้ให้การสนับสนุนผู้ประกอบการโรงสี ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เพื่อพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน พร้อมทั้งการรองรับมาตรฐานการค้าต่าง ๆ ด้วย

การส่งเสริมจากภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้ สมาชิกโรงสีที่ทำตลาดส่งออกข้าวได้รับการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้เข้าร่วมโครงการเจรจาการค้าพบปะผู้ซื้อ-ผู้ขายจากทั้งในและต่างประเทศ ตรงนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสและสร้างประสบการณ์ให้กับสมาชิกโรงสีข้าว นอกจากนี้ยังมีการจัดคณะผู้ซื้อข้าวจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐ-จีน กว่า 100 ราย เข้ามาเยี่ยมชมกระบวนการสีข้าว ตรงนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมการค้าภายใน-กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ-โรงสีข้าว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อ

ผมยอมรับว่าโครงการนี้เป็นสิ่งที่ดีที่หน่วยงานภาครัฐให้การสนับสนุนผู้ประกอบการโรงสี และสร้างการมีส่วนร่วมให้กับสมาชิกโดยเฉพาะรุ่นลูก-รุ่นหลาน ที่ต้องการต่อยอดกิจการโรงสีเดิมของตน ให้ได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการทำตลาดการค้า-การส่งออก และรู้จักผู้ซื้อข้าวมากขึ้น ผมหวังว่าโครงการแบบนี้จะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาออกไปในรูปแบบใหม่ ๆ

โดยเฉพาะการนำสินค้าออกไปสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ เพื่อที่จะได้ต่อยอดตลาดได้ในอนาคต แม้การไปเปิดตลาดใหม่ ๆ จะไม่เกิดผลทันที แต่เชื่อว่าจะเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการโรงสีรู้ถึงทิศทางการค้าข้าว และนำมาปรับตัวให้เข้ากับตลาดมากขึ้น

ผลผลิตข้าวปีหน้า

จากการประเมินของสมาคมเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคม 2560 เบื้องต้นคาดว่า ผลผลิตข้าวหอมมะลิจะมีประมาณ 7 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูก 21 ล้านไร่ ใน 20 จังหวัดภาคอีสาน และ 3 จังหวัดในภาคเหนือ ขณะที่ปริมาณข้าวเหนียว คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 4 ล้านตัน จากพื้นที่เพาะปลูก 14 ล้านไร่ ตรงนี้เป็นการคาดการณ์จากปริมาณข้าวเปลือก และปัจจัยลบที่บางพื้นที่เสียหายจากน้ำท่วม ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 53 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 58 ล้านไร่ ตรงนี้เป็นแค่ตัวเลขจากการประเมินที่ยอมรับได้ แต่ก็ต้องติดตามผลผลิตข้าวที่ออกมาจริงว่าเท่าไร เพราะการตรวจสอบจากภาพถ่ายดาวเทียมบอกได้เพียงพื้นที่เพาะปลูก แต่ไม่สามารถประมาณการผลผลิตจริงได้ ซึ่งก็ต้องลงพื้นที่ตรวจสอบกันอีกครั้ง สมาคมคาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 2560/2561 จะอยู่ที่ประมาณ 29 ล้านตัน

สต๊อกข้าวรัฐบาล

สำหรับข้าวที่ยังคงค้างในสต๊อกรัฐบาลนั้น ผมมองว่าไม่มีนัยทางตลาดและราคาแต่อย่างไร แต่ถ้าเกิดความผันผวนในเรื่องของตลาดหรือราคาข้าว น่าจะเป็นผลมาจากกลไกของตลาดและการแข่งขันมากกว่า ขณะที่สต๊อกข้าวหอมมะลิของผู้ประกอบการในตอนนี้ก็ยังทำตลาดได้ โดยเฉพาะตลาดข้าวภายในประเทศ เพราะผู้บริโภคยังนิยมอยู่ ผู้ประกอบการก็กล้าสต๊อกข้าวมากขึ้น ส่วนข้าวหอมมะลิใหม่ก็ทำตลาดส่งออกไป เรื่องที่เรายังกังวลอยู่ก็คงเป็นข้าวขาว-ข้าวเหนียว เพราะปีที่ผ่านมาข้าวเหนียวราคาดี จึงมีการปลูกเป็นจำนวนมากอาจจะส่งผลให้ผลผลิตล้นตลาดก็ได้ เพราะการส่งออกส่วนใหญ่อยู่ที่ปริมาณ 300,000 ตันต่อปี ส่วนที่เหลือก็บริโภคภายในประเทศ ตลาดส่งออกก็ยังไม่ขยายตัว ซึ่งก็ต้องติดตามกันต่อไป

ตลาดส่งออกใหม่ ๆ

เราต้องการให้รัฐเปิดตลาดส่งออกใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น จากตลาดฮ่องกง-จีน ซึ่งเราทำมาตลอด ไม่ได้ว่า ทิ้ง เพราะเรายังพึ่งพาตลาดนี้อยู่ แต่ก็ต้องขยายตลาดส่งออกต่อไป อาทิ โรป-ออสเตรเลีย-แคนาดา ตลาดเหล่านี้ควรจะต้องมีการจัดคณะออกไป การประชาสัมพันธ์หรือสร้างการรับรู้สินค้าข้าวของไทยให้มากขึ้น เพื่อเป็นการเปิดตัวให้เป็นที่รู้จัก เราอาจจะยังไม่ต้องตั้งเป้าหมายการซื้อขายข้าวในทันที แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการค้าข้าวจะได้ต่อยอดการค้า ส่วนคู่แข่งไม่ต้องกังวลมากขึ้น เราต้องหันมาดูตัวเอง และพัฒนาทั้งในตัวสินค้า-คุณภาพให้ดีขึ้นเพื่อการแข่งขัน และตัวชาวนาเองก็ต้องพัฒนาไปด้วย เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเองได้ เมื่อฐานเราเข้มแข็งก็จะสามารถต่อยอดไปได้อีกไกล