ส.ว.ชงอภิปรายโรคระบาด ASF ในหมู ทำเศรษฐกิจเสียหายรุนแรง

หมู
Photo by RONALDO SCHEMIDT / AFP

“ลักษณ์” ส.ว. อดีตประธาน pig board – รมช.เกษตร ทำหนังสือหารือประธานวุฒิสภาจี้กระทรวงเกษตร-พาณิชย์ทำแผนแก้วิกฤตหมู ASF ยึดจีนโมเดลหาทางออก

วันที่ 18 มกราคม 2565 นายลักษณ์ วจนานวัช อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ
ประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ปัจจุบันดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปิดเผยว่า ล่าสุดได้ทำหนังสือ ถึงประธานวุฒิสภา เพื่อปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาเรื่อง ปัญหาการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกันในสุกร (African Swine Fever : ASF) ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย

ลักษณ์ วจนานวัช
ลักษณ์ วจนานวัช

แม้ว่าโรคนี้จะไม่ติดต่อจากสัตว์สู่คนก็ตาม แต่ก็ส่งผลทำให้สุกรในฟาร์มที่ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงถึง 80% จึงเป็นโรคติดต่อที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง นอกจากนี้ เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคนี้มีความคงทนสูงและสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน รวมทั้งยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาโรค

ดังนั้นจึงทำให้ผู้เลี้ยงสุกรขาดความเชื่อมั่นและเลิกเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย จนส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้ปริมาณสุกรลดลงไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศและราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มสูงขึ้นสร้างความเดือดร้อนให้กับผู้บริโภคอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน

จึงขอหารือท่านประธานผ่านไปยังรัฐบาลว่า รัฐบาลควรเร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ ปรึกษาหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อกำหนดแผนงานแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นเอกภาพทั้งแผนระยะเฉพาะหน้าในการควบคุมการระบาดของโรค แผนระยะสั้นและระยะกลาง ในการปรับมาตรฐานเพื่อยกระดับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม หรือ Farm biosecurity System เพื่อเป็นการป้องกันและจัดระบบการเฝ้าระวังให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล รวมถึงจัดให้มีมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่จำเป็น

สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย และแผนระยะยาวเรื่องการวิจัยค้นคว้าเพื่อหาวัคซีนป้องกันโรค โดยมีกรอบระยะเวลาการขับเคลื่อนตามแผนที่ชัดเจนกระผมมีความเห็นว่า รัฐบาลควรกำหนดแผนเผชิญวิกฤตทั้งหมดนี้ให้สมบูรณ์เสียก่อน จึงจะพิจารณาเรื่องการนำเข้าเนื้อสุกรจากต่างประเทศโดยควรพิจารณานำเข้าเนื้อสุกรเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแผนดังกล่าวเท่านั้น

“โรคนี้ได้เกิดขึ้นที่ประเทศจีนมาก่อนหน้าแล้ว และขณะนี้จีนมีแนวทางในการแก้ปัญหาโดยเฉพาะภาคการผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณสุกรภายในประเทศ ดังนั้น ประเทศไทยควรศึกษาแนวทางของจีนด้วย”