5 หมื่นโรงงานฝ่าวิกฤตต้นทุน ดันส่งออกอาหารโต 13%

ส่งออกอาหารไทยปี’64 ทะลุ 1.2 ล้านล้าน โต 13% สูงสุดรอบ 5 ปี ยืนเป้า “ครัวโลก” คาดปี’65 โตอีก 3-5% ฝ่ามรสุม ต้นทุนพุ่ง ทั้ง “วัตถุดิบ-ค่าคุมโควิด-ค่าระวางเรือ” แถมคู่ค้างัดมาตรการสิ่งแวดล้อมเข้ม หอการค้าฯแนะ “ผู้ผลิตอาหาร” 5 หมื่นราย ปรับตัวต่อยอดนวัตกรรม-ดึงเทคโนโลยีมาผลิตแทนคน หวังรัฐช่วยอุ้มรายย่อย 80%-เร่งเจรจา FTA

อุตสาหกรรมอาหารของไทยมีเป้าหมายสู่การเป็น “ครัวของโลก” เริ่มไต่ระดับสู่ประเทศผู้ส่งออกอาหารอันดับ 14 ปี 2560 ขยับเป็นอันดับ 12 ในปี 2561 ก่อนหล่นมาอันดับ 11 ปี 2563 จากส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น จากปัจจัยเสี่ยง และความท้าทายต่าง ๆ ทั้งต้นทุนราคาวัตถุดิบ, แพ็กเกจจิ้ง, ค่าขนส่ง ค่าระวางเรือ, ต้นทุนการป้องกันโควิดในโรงงาน, การจัดหาแรงงานที่ถูกต้อง รวมถึงปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ และขาดแคลนแรงงาน, เงินเฟ้อที่สูงขึ้น

ถึงอย่างนั้น มูลค่าการส่งออกสินค้าอาหารของไทยก็ยังโตต่อ โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารของไทยในปี 2564 คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 1.2 ล้านล้านบาท เติบโต 13% สูงสุดในรอบ 5 ปี เป็นผลจากตลาดโลกยังมีความต้องการสินค้าไทย

ทำให้การส่งออกสินค้าหลายรายการโตอย่างมาก เช่น ทุเรียนที่ขยายตัว 40-50% และอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นสินค้าดาวรุ่งเติบโต 20% ต่อปีต่อเนื่อง จนมีมูลค่า 5 หมื่นล้านบาทแล้ว ทั้งไทยยังมีกลุ่มสินค้าอาหารสำเร็จรูปที่ส่งออกได้อีก 2 แสนล้านบาท

แจกแจงปัจจัยเสี่ยง

สำหรับแนวโน้มในปี 2565 อุตสาหกรรมนี้จะยังเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ และยังมองถึงโอกาสในการเป็นครัวของโลก โดยคาดว่าจะเติบโตได้ 3-5% แม้จะชะลอตัวลงจากปีก่อน โดยความท้าทายที่ต้องเผชิญต่อเนื่องในปีนี้ยังเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่กระทบการขนส่งสินค้าในท่าเรือในตลาดหลักทั้งสหรัฐ สหภาพยุโรป

ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถหมุนเวียนกลับมาได้ อาจยาวต่อเนื่องไปถึงหลังตรุษจีน ซึ่งขึ้นกับนโยบายของสายการเดินเรือแต่ละบริษัทว่าจะปล่อยตู้เรือออกมาหรือไม่ หากปล่อยมากอาจส่งผลต่อค่าระวางเรือ รวมกับปัจจัยการคุมเข้มเรื่องโควิดของคู่ค้าอย่างจีนที่ประกาศใช้มาตรการ Zero COVID กำหนดให้ตรวจ PCR 100% และจำกัดด่านการค้าในการนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลต่อสินค้าทุเรียนที่กำลังจะออกในอีก 2 เดือนข้างหน้า

“ปัญหาต้นทุนการผลิตของเอกชนเป็นปัจจัยที่น่าห่วงมากกว่าการตรวจสอบมาตรฐาน เพราะมาตรฐานนั้นเอกชนไทยปรับตัวได้สูงกว่าระดับสากลอยู่แล้ว ที่ผ่านมาทำได้ 20 ขั้นตอน ปีนี้ทำเพิ่มอีก 5 ขั้นตอน แต่ต้นทุนการผลิตคุมไม่ได้ โดยปีที่ผ่านมาโรงงานต่าง ๆ ต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรงงานจากโควิด ทั้งตรวจ ATK หรือ PCR ก็เป็นต้นทุน ค่าขนส่งทางบกที่ปรับขึ้นตามภาวะราคาน้ำมัน ต้นทุนแพ็กเกจจิ้งปรับขึ้นทั้งหมด

ไม่ว่าจะเป็นเหล็กกระป๋อง กระดาษ และพลาสติก ต้นทุนวัตถุดิบเกษตรที่กระทบจากน้ำแล้ง น้ำท่วม และต้นทุนการจัดหาแรงงานถูกกฎหมาย เมื่อจ่ายไปแล้ว แรงงานก็อยู่กับเราไม่กี่เดือนก็ย้ายงาน นอกจากนี้ ยังมีต้นทุนจากการจัดหาวัตถุดิบนำเข้า ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 25% ของการใช้ในการผลิต”

เข้มมาตรฐานสิ่งแวดล้อม

ประเด็นความท้าทายใหม่ในอุตสาหกรรมอาหารล่าสุดคือ ความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วของตลาดโลก และความไม่นิ่งของสถานการณ์โควิดที่ทำให้ปรับตัวอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นประเด็นรุนแรงมากขึ้น หลังจากการประชุมสหประชาชาติด้านความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือ COP26 เพื่อไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนในปี 2065 ซึ่งนโยบายประเทศต่าง ๆ จะพยายามจำกัดการนำเข้า หามาตรการที่สอดคล้องกับนโยบายโลกที่เปลี่ยนไป ทำให้การส่งออกสินค้ายากขึ้น

“ไม่ใช่สิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยด้วย เช่น หมู ไก่ ที่มาวิธีเลี้ยงตรวจสอบเชื้อโรคเป็นอย่างไร วิธีการที่ผู้นำเข้าใช้ในการส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ คือ ต้องขึ้นทะเบียนกับประเทศปลายทาง ก่อนหน้านี้ วิธีนำเข้าส่งออกไม่ใช่แบบนี้ ดูได้จากจีนที่ทุกสินค้าต้องขึ้นทะเบียน แม้ไม่ใช่ 18 สินค้าที่ระบุว่าจะต้องมีการรับรองของทางการ ก็ต้องลงทะเบียนในระบบออนไลน์

เช่นกันกับอินเดียก็ออกกฎคล้ายกันว่า สินค้าที่จะส่งออกไปต้องขึ้นทะเบียน ไม่นับมาตรฐานเฉพาะของแต่ละประเทศที่ออกมานานแล้ว เช่น อยากส่งสินค้าไปอังกฤษ ต้องมีมาตรฐาน BRC ของสมาคมค้าปลีกอังกฤษ หรือฝรั่งเศส และเยอรมนี มีมาตรฐานอีกแบบ ในทุก ๆ มาตรฐานเลี่ยงไม่ได้ และเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น”

5 หมื่นรายเร่งปรับตัว

นายวิศิษฐ์กล่าวว่า ผู้ประกอบการต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพื้นฐานการผลิต และมีสินค้าตัวใหม่ ๆ โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม เพิ่มมูลค่าในระบบการผลิต พร้อมทั้งดึงเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ โดยจะต้องสนับสนุนให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีเข้าถึงได้ เพราะรายใหญ่ในปัจจุบันเข้าถึงแล้ว แต่รายเล็กจะทำอย่างไรให้มีการระดมทุนมาปรับเทคโนโลยีการผลิต นำเครื่องจักรมาช่วยคน

“อุตสาหกรรมอาหารมีผู้ประกอบการ 50,000 ราย ที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดว่าเป็นรายใหญ่ 10-15% มีสัดส่วนไม่มาก แต่กำลังการผลิตสูงมาก 80% ขณะที่เอสเอ็มอีกำลังการผลิตรวมแค่ 20-30% แต่มีจำนวนมาก คิดเป็นสัดส่วน 80% ของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรม รายใหญ่มีความสามารถในการปรับตัวมากกว่ารายย่อย ภาครัฐควรดูแลรายย่อยในระบบให้ประคองธุรกิจต่อไปได้”

จี้รัฐเร่ง FTA

ในอีกด้านภาครัฐควรเดินหน้านโยบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมุ่งขยายการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) โดยตลาดหลักที่ผ่านมา ไทยโดนตัดสิทธิพิเศษทางภาษี (GSP) และไม่มีกรอบ FTA มาช่วย ทำให้เสียเปรียบด้านการแข่งขันอย่าง EU หรือสหรัฐ ผลคือไทยเสียตลาดสินค้าหลายประเภท เช่น เสียตลาดสับปะรดกระป๋อง หลังอียูตัดจีเอสพีให้ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ทำให้ต้องใช้เวลาหลายปีทำตลาดสินค้าใหม่ “น้ำสับปะรด” ไปทดแทน แต่ไม่สามารถดันยอดกลับมาเท่าเดิมได้

ส่วนกรอบความตกลง CPTPP ขณะนี้ดำเนินการแก้ปัญหาอุปสรรคร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชนว่ามีสิ่งใดกังวล และกรณีที่มีผู้ที่ได้รับผลกระทบต้องเยียวยาอย่างไร เช่น การจัดทำกองทุนเอฟทีเอ หรือการปรับเปลี่ยนอาชีพ การปรับมาตรฐานสินค้า อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ไทยต้องใช้โอกาสในการส่งออกโดยผ่านกรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้วก่อน