อธิบดีปศุสัตว์กล่อมผู้เลี้ยงหมูรายย่อยเข้าระบบ GFM

หมู สุกร

ปศุสัตว์ยกระดับความปลอดภัยชีวภาพสูงสุด วอนผู้เลี้ยงหมูรายย่อยที่เลี้ยงต่ำกว่า 500 ตัว เข้าระบบแบบ GFM เพื่อป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว ชี้ใช้งบน้อยกว่าระบบ GAP

วันที่ 20 มกราคม 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้รายงานการเกิดโรค ASF ในสุกร โดยได้แจ้งไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 นั้น ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคได้ในระยะยาวและยั่งยืน และตามหลักสากลโดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อป้องกันโรคระบาด ซึ่งไม่เฉพาะสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรเท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคระบาดอื่น ๆ ในสุกรได้อีกด้วย

การส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ซึ่งรายย่อยสามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการทำมาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practice) และเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP ต่อไปในอนาคต

สำหรับในการเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนน้อยกว่า 500 ตัว สามารถทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM : Good Farming Management) หลักการสำคัญมี 3 ด้าน ประกอบด้วย การป้องกันโรค การตรวจสอบย้อนกลับ และด้านผลผลิต มีข้อกำหนดในการรับรอง ประกอบด้วย พื้นที่และโครงสร้าง การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์ การจัดการยานพาหนะ การจัดการบุคลากร การจัดการด้านสุขภาพสัตว์ การจัดการอาหารสัตว์และยาสัตว์ การจัดการด้านข้อมูล และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการทำ GFM เป็นการทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม เป็นมาตรการหนึ่งของมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อควบคุมป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับ คน สัตว์ และสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะ ต้องมีการฆ่าเชื้อพ่นน้ำยาที่ทางเข้า-ออกฟาร์ม พักให้น้ำยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์เป็นเวลา 30 นาที มีการกำจัดแมลงและสัตว์พาหะหรือมีมุ้งป้องกันแมลงวันที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากฟาร์มหมูที่ป่วย

มีพื้นที่พักสัตว์ พื้นที่เลี้ยง และพื้นที่ขายหมู แยกออกจากกัน บุคคลหากไม่จำเป็นไม่ควรให้เข้าในพื้นที่เลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด ถ้าจำเป็นต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดก่อนเข้า-ออก และจุ่มรองเท้าบูทฆ่าเชื้อทุกครั้ง และผู้ที่เข้าพื้นที่เลี้ยงสุกรต้องพักโรคอย่างน้อย 5 วัน การเลี้ยงสัตว์ เลือกแหล่งอาหารที่น่าเชื่อถือ ไม่นำอาหารเหลือที่มีส่วนประกอบของเนื้อหมูมาใช้ในการเลี้ยง สำหรับน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้ผลมีประสิทธิภาพ

ได้แก่ กลุ่มกลูตาราลดีไฮด์ และฟีนอล ตามอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำ เช่น 1:200 ทิ้งไว้นาน 10 นาที การปฏิบัติดังกล่าวสามารถป้องกันโรคได้อย่างดี เนื่องจาก โรค ASF ในสุกรจะแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้จะต้องมีพาหะพาไป เชื้อโรคมักแพร่ไปกับตัวหมูจากการขนส่งหมูมีชีวิตที่สุขภาพยังปกติจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค โดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง หรือเชื้อโรคแพร่ไปกับเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในตลาดที่เกิดจากการขายหมูที่ติดเชื้อโรคแล้วขายเข้าโรงชำแหละ หรือเชื้อโรคติดมากับพาหนะรถรับซื้อหมูที่อาจผ่านการขนส่งหมูป่วยโดยที่ไม่ทราบ หรือเชื้อโรคติดมากับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาด เป็นต้น

“ผลที่ได้จากการทำฟาร์ม GFM สามารถลดปัญหาโรคร ะบาด ลดความเสียหาย ลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ และสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มีความมั่นคงขึ้น”

หมู สุกร