กกร. จับมือรัฐ เดินหน้า Ease of Doing Business ย้ำไทยต้องปรับ

กกร. จับมือรัฐ เดินหน้า Ease of Doing Business ย้ำไทยต้องปรับ

กกร. จับมือรัฐ เดินหน้า Ease of Doing Business ย้ำไทยต้องปรับ เพื่อยกระดับการแข่งขันของประเทศ ในตลาดโลกเนื่องจากทุกอย่างเปลี่ยนไป

วันที่ 24 มกราคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย เปิดเผยหลังจากประชุม กกร.ว่าทางภาคเอกชนได้มีการหารือกับ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินธุรกิจของประชาชน

ปัจจุบันการดำเนินการปลดล็อกด้านกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ หรือ Regulatory Guillotine ที่ได้มีว่าจ้างที่ปรึกษาจากต่างประเทศ มาถ่ายทอดความรู้และให้คำปรึกษาแก่ TDRI มีความคืบหน้าไปอย่างมาก โดยคณะอนุกรรมการฯ รายงานว่า ในปีงบประมาณ 2564 ที่ผ่านมา มีการดำเนินการขับเคลื่อนการปลดล็อกเสร็จแล้ว 424 กระบวนงาน และอยู่ระหว่างการดำเนินอีก 514 กระบวนงานโดยความคืบหน้าของผลสัมฤทธิ์ในการขับเคลื่อน แบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 กระบวนงานที่หน่วยงานดำเนินการแล้วเสร็จตามข้อเสนอ จำนวน 424 กระบวนงาน เช่น
การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ การกำกับดูแลโทรเวชกรรม (Telemedicine) และการปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารและดัดแปลงอาคาร

กลุ่มที่ 2 กระบวนงานที่หน่วยงานเห็นชอบการดำเนินการตามข้อเสนอ อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย จำนวน 136 กระบวนงาน เช่น การปรับปรุงกฎเกณฑ์เกี่ยวกับอาคารที่อาจใช้ประกอบธุรกิจโรงแรม และการยกเลิกการควบคุมการนำเข้าเครื่องพิมพ์สามมิติและเครื่องทำน้ำร้อน

กลุ่มที่ 3 กระบวนงานเชิงการปรับปรุงหลักการและโครงสร้างของกฎหมายที่อยู่ระหว่างการขับเคลื่อน
โดยคณะอนุกรรมการฯ หรือคณะกรรมการอื่น จำนวน 378 กระบวนงาน เช่น การจ้างงานคนต่างด้าวและสวัสดิการแรงงานต่างด้าว และการส่งเสริมการท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มที่ 4 กระบวนงานที่แนวทางการดำเนินการของหน่วยงานยังไม่ชัดเจน จำนวน 58 กระบวนงาน เช่น การปรับลดเอกสารในการจดทะเบียนอาคารชุดและนิติบุคคลอาคารชุด และการส่งเสริมสวัสดิการและส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ

กลุ่มที่ 5 กระบวนงานที่มีข้อมูลไม่เพียงพอในการพิจารณาและอยู่ระหว่างการขอข้อมูล หรือต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม จำนวน 98 กระบวนงาน เช่น การประกอบกิจการสถานพยาบาล และ การประกอบกิจการท่าเรือเดินทะเล

ทั้งนี้ ภาคเอกชนขอเสนอให้รัฐบาลตั้งหน่วยงานเฉพาะเจาะจงมารับผิดชอบในการปฏิรูปกฎหมายล้าสมัย โดยมีจำนวนกำลังพลและงบประมาณที่เหมาะสม และทำงานเต็มเวลาในการนำวิธีการ Regulatory Guillotineมาใช้ในการปฏิรูปกฎหมายอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีผลงานขับเคลื่อนการปฏิรูปกฎหมายต่างๆ เพื่อลดภาระที่ไม่จำเป็นของประชาชน และเพื่อลดอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เป็นจำนวนมาก เช่น แก้ไขเรื่องอัตราดอกเบี้ยและดอกเบี้ยผิดนัด และ เรื่องการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (ส่วนราชการติดต่อสั่งการกันทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ และประชาชนสามารถติดต่อรวมทั้งส่งเอกสารทางอิเลคทรอนิกส์ให้ส่วนราชการได้)

กกร.จึงทำข้อเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพของประชาชน เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จำนวนกว่า 40 ข้อเสนอ ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย ได้นำเสนอแนวทางปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวต่อนายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีได้เห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าวแล้ว กกร. จะติดตามสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายอย่างเต็มที่ เพื่อผลักดันการปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวให้สำเร็จโดยเร็ว

ในข้อเสนอดังกล่าว กกร. เห็นว่ามี 5 เรื่องเร่งด่วน ที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ดังนี้

1) ปรับปรุงกฎหมายบริษัทเพื่อส่งเสริมให้ SMEs และ Startup สามารถระดมทุน และดึงดูดคน
มีความสามารถมาสร้างนวัตกรรมต่างๆในประเทศไทย เช่น แก้ไขเรื่องการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ การออกหุ้นให้พนักงาน (ESOP) รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวกับวีซ่าและ work permit ของต่างชาติที่จะสร้าง startup

2) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับคนเข้าเมืองและการทำงานของคนต่างด้าว ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานของประเทศ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้คนต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาสร้าง startup และนวัตกรรมในประเทศได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะต้องมีการแก้ไขประเภทของวีซ่าและขั้นตอนการควบคุมตลอดระยะเวลาที่อยู่ในประเทศให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน

3) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจท่องเที่ยว (โรงแรม สถานบริการ มัคคุเทศก์) ให้สอดคล้องกับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ homestay long-stay

4) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับการทำธุรกิจ และ
ตัดปัญหาอุปสรรคต่างๆ

5) ปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่า ในส่วนที่เกี่ยวกับการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle) เพราะเป็นเรื่องสำคัญในการจัดการภาวะโลกร้อนและการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทบกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หากไม่มีการบริหารจัดการที่ดีสินค้าของไทยจะไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“ภาคเอกชนต้องขอชื่นชมหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งที่ได้มีการเร่งปรับปรุงกฎ ระเบียบ และการพัฒนาระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ให้มีความทันสมัยและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดย อยู่ระหว่างพิจารณาจัดทำรางวัลผู้บริหารระดับสูงภาครัฐและหน่วยงานที่มีความโดดเด่นด้านการอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจ ในรูปแบบเช่นเดียวกับรางวัลความเป็นเลิศภาครัฐ

โดยจะใช้เกณฑ์และมาตรฐานในการประเมินตัดสินจากภาคธุรกิจ ซึ่งจะสะท้อนการให้บริการเพื่ออำนวยความสะดวกต่อภาคธุรกิจและการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่ล้าสมัย (EoDB / Guillotine) อย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นการให้กำลังใจและเชิดชูหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ” นายสนั่น กล่าว