IES ลุยพัฒนา 2 โครงการพลังงานลม 1,600 เมกะวัตต์ ในลาว

ภาพ Pixabay

IES พัฒนาโครงการพลังงานลม 1,600 เมกะวัตต์ ในลาวฉลุย พร้อมเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในปี 67 ต่อยอดนโยบายแบตเตอรี่แห่งเอเชีย สปป.ลาว

วันที่ 24 มกราคม 2565 นางภราไดย สืบมา ในฐานะประธานบริษัท อิมแพค เอนเนอร์ยี่ เอเชีย ลิมิเต็ด (IEA) ได้ลงนามร่วมกับตัวแทนจากรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในบันทึกความเข้าใจ (MOU) สำหรับความร่วมมือในการพัฒนาและการดำเนินการโครงการ 1,000 เมกะวัตต์วินด์ฟาร์มในจังหวัดเซกอง หรือ โครงการเซกองวินด์ฟาร์ม พัฒนาโดยบริษัท อิมแพค อิเลคตรอนส์ สยาม จำกัด (IES) บริษัทในเครือของ IEA และเป็นผู้พัฒนาโครงการ 600 เมกะวัตต์มอนซูนวินด์ฟาร์มในพื้นที่บริเวณเดียวกัน ซึ่งปัจจุบันโครงการมอนซูนฯ มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก และได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนามเรียบร้อยแล้ว

นางภราไดยเปิดเผยว่า บริษัทมีความยินดีเป็นอันมากต่อการให้การสนับสนุนและความเชื่อมั่นต่อบริษัท ของรัฐบาล สปป.ลาว ในการที่จะได้พัฒนาโครงการที่มีความสำคัญนี้ต่อไป เพราะที่ตั้งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ มีทรัพยากรลมที่มีศักยภาพ และการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากรัฐบาล สปป.ลาว

 

“บริษัทมั่นใจว่าโครงการเซกองวินด์ฟาร์มจะสามารถดำเนินการโครงการได้อย่างรวดเร็วในการผลิตพลังงานสะอาดให้แก่อาเซียนได้”

สำหรับโครงการเซกองวินด์ฟาร์ม ขนาดพื้นที่ประมาณ 506,250 ไร่ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเซกอง สปป.ลาว ในบริเวณเดียวกันกับโครงการมอนซูนวินด์ฟาร์มซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาก่อสร้างหลังจากเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าเวียดนามเรียบร้อยแล้ว โครงการนี้ดำเนินการเก็บข้อมูลค่าลมมาตลอด10 ปีที่ผ่านมา คาดว่าจะดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2567

สำหรับโครงการเซกองวินด์ฟาร์ม และโครงการมอนซูนวินด์ฟาร์ม จะมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,600 เมกะวัตต์ และเป็นโครงการที่มีบทบาทสำคัญในการต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 90 ล้านตันตลอดอายุโครงการ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบทบาทสำคัญของ สปป.ลาว ที่กำหนดวิสัยทัศน์หลักในการพัฒนาประเทศให้ไปสู่การเป็นแบตเตอรี่แห่งเอเชียด้วย

“เราทราบเป็นอย่างดีว่าพลังงานลมเป็นอีกหนึ่งทรัพยากรที่สำคัญของ สปป.ลาว และโครงการนี้จะแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ และความเป็นเลิศทางด้านการจัดการก๊าซเรือนกระจกของ สปป.ลาว เราพร้อมเป็นส่วนหนึ่งกับ สปป.ลาว ในการต่อสู้กับสภาวะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก และยังคงมุ่งมั่นที่ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยรอบโครงการเพื่อความยั่งยืนสืบไป” นางภราไดยกล่าว