“สมคิด” มอบโจทย์ ก.เกษตรฯ “ต้องดูแลประชาชนให้มีความสุข”

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถึงประเด็นการดูแลเกษตรกร และการแก้ปัญหาพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า งานที่ต้องเร่งทำตามพระราชกระแสรับสั่งของรัชกาลที่ 10 ที่ว่าต้องดูแลประชาชนให้มีความสุข ซึ่งประชาชน 20-30 ล้านคน ที่เป็นเกษตรกรจำนวนมาก แต่ขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เพียง 8-9% จึงยังมีความยากจนอยู่ ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า ปีนี้และปีหน้า งานสำคัญลำดับแรก คือ การช่วยเหลือเศรษฐกิจข้างล่างให้แข็งแรง ให้ทุ่มสรรพกำลังลงไปเต็มที่ ถึงเวลาแล้วต้องช่วยเหลือคนตัวเล็กจำนวนมากอย่างเกษตรกร โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำงานบูรณาการกันอย่างใกล้ชิด และไม่ได้อยู่แค่การผลิตสินค้า การตลาด แต่ต้องทำให้พื้นที่และชุมชนเข้มแข็ง ด้วยการเชื่อมโยงให้เกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

นายสมคิดกล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ ได้ฝากการบ้านหลายอย่าง ทุกเรื่องให้เร่งทำออกมาเกิดผลเป็นรูปธรรมเร็วที่สุด ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ให้เร่งแก้ไขปัญหายางพารา ราคายางเป็นปัญหาสะสมมา 15 ปีแล้ว เดิมปลูกยางพาราแค่ภาคใต้ พอราคาดี มีการเพิ่มปริมาณปลูกกระจายไปยังภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ระยะหลังราคาน้ำมันโลกลง แต่การผลิตยางของไทยไม่เปลี่ยนแปลง มีสินค้าเข้ามาทดแทน เกิดซัพพลายยางล้นตลาด เบื้องต้น มี 2 วิธี ที่จะต้องทำ คือ ระยะสั้นประคองราคายางให้เหมาะสมและสมเหตุสมผล การซื้อขายยางด้วยราคาต่ำกว่าต้นทุนไม่ควรจะเกิดขึ้น กระทรวงเกษตรฯจะหารือกับผู้ประกอบการและสมาคมที่เกี่ยวข้องต่อไป และระยะยาวจะต้องส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มยางพารา

ส่วนปาล์มน้ำมัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ขณะนี้ไทยมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) ถึง 5 แสนกว่าตัน ซึ่งเป็นปริมาณสูงสุด ไม่เคยมีมาก่อน สูงแบบนี้เกิดจากขาดการบริหารแบบบูรณาการ โดย กนป.มีมติให้กระทรวงพาณิชย์ ดูแลการผลักดันส่งออกซีพีโอ 1 แสนตัน ส่วนกระทรวงพลังงานดูแลการนำซีพีโอ 1 แสนตันไปทำไบโอดีเซล รวมให้ดูดซับออกไป 2 แสนตัน นอกจากนี้ยังมีองค์การคลังสินค้า (อคส.) และ บริษัท ปตท. ที่จะเข้ามาช่วยดูดซับอีกหากจำเป็น ส่วนพืชเกษตรสำคัญอื่นๆ หน่วยงานไหนที่เป็นเจ้าภาพดูแล เช่น กระทรวงพาณิชย์ หรือกระทรวงเกษตรฯ ก็ให้สามารถระบุคนดูแลได้

นายสมคิดกล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องใหญ่ ในระยะกลาง-ยาว คือ การทำให้เกษตรกรแข็งแรง ด้วยการสร้างเอสเอ็มอีเกษตร โดยกระทรวงเกษตร ร่วมกับ ธ.ก.ส. ร่วมกันทำมาตรการออกมาให้เกิดความเข้มแข็ง เช่น หาตลาดอย่างไร พืชสวน ผลไม้ การค้าอี-คอมเมิร์ซ เริ่มจากเกษตรกรกลุ่มที่มีความเป็นผู้นำก่อน นำศาสตร์พระราชา เกษตรแปลงใหญ่ ร่วมด้วย หากทำผ่านกลุ่มนี้ได้ จะเกิดการเรียนรู้กระจายสู่หมู่บ้านข้างๆ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่

“ เรื่องบิ๊กดาต้า นำข้อมูลเกษตรมาแชร์ข้อมูลกันทุกกระทรวง ไม่กักข้อมูล เพราะปัญหาเกษตรไทยอยู่ที่การบริหารจัดการ โดยจะต้องเซ็ทระบบข้อมูลขึ้นมา อะไรที่จ้างข้างนอกได้ก็ทำ ข้อมูลอะไรที่เคยมั่วไว้ก็เลิกมั่ว ทำให้ถูกต้อง รัฐบาลนี้มีเวลาอยู่อีก 1 ปี หลักๆ ผมจะทำหน้าที่ประสานงาน หากหน่วยงานต่างๆ ต้องการจะเสนออะไรเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ก็เสนอมา ” นายสมคิดกล่าว

นายสมคิดกล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรฯ จะต้องร่วมกัน ให้เข้าถึงผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเกษตรกรอย่างละเอียดใกล้ชิด ว่าต้องการอะไร มีปัญหาตรงไหน ตรงเป้าตรงจุด เพราะในระยะ 1 ปี เรื่องเร่งด่วนต้องทำคือเกษตรกร รวมถึงการสร้างรายได้ให้เกษตรกร ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวที่ไม่มีรายได้ ตรงนี้กระทรวงเกษตรฯรับไปเร่งออกมาว่า ว่าจะสร้างรายได้หล่อเลี้ยงให้มีรายได้พอสมควรอย่างไร ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมปศุสัตว์ โดยเฉพาะบนที่ดินปลูกพืชไม่ขึ้น จัดหาโคเนื้อให้ชุมชนร่วมกันเลี้ยง อีกเรื่องคือสหกรณ์ ซึ่งมีทั้งที่เข้มแข็งและอ่อนแอ ให้ไปสอดส่องเข้มข้น ว่าจะทำการพัฒนาอย่างไร ดูให้ดีๆ เรื่องหนี้

 

ที่มา : มติชนออนไลน์