ประวิตร ห่วงภัยแล้งลุ่มเจ้าพระยา ชาวนาปลูกข้าวเกินแผนแล้ว 3.6 ล้านไร่

“ประวิตร” ลงพื้นที่ชัยนาท-สิงห์บุรี ติดตามแผนจัดการน้ำฤดูแล้งลุ่มน้ำเจ้าพระยา หลังพื้นที่ในเขตชลประทาน 22 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำข้างเคียง เพาะปลูกไปแล้ว 3.63 ล้านไร่ จากแผน 2.81 ล้านไร่ กรมชลประทานรุกบริหารจัดการน้ำรัดกุม

วันที่ 25 มกราคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ จ.ชัยนาท และสิงห์บุรี เพื่อติดตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 64/65 และแผนบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ว่า รัฐบาลมีความห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคกลางในช่วงแล้งนี้

เนื่องจากสถานการณ์น้ำปัจจุบันของ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (ข้อมูล 24 ม.ค. 2565) ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักฯ มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันอยู่ที่ 6,616 ล้าน ลบ.ม. หรือ 36% โดยเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 พื้นที่ในเขตชลประทาน 22 จังหวัด ในลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำข้างเคียง มีการเพาะปลูกไปแล้ว 3.63 ล้านไร่ จากแผน 2.81 ล้านไร่ จึงได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและแผนบริหารจัดการการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา รวมถึงแผนการปลูกข้าวนาปรังในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่งในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมา เพื่อเร่งชดเชยผลกระทบเพื่อให้เกษตรกรมีน้ำทำนาตลอดฤดูการเพาะปลูก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้ตามแผนที่วางไว้ ได้กำชับให้ สทนช. กรมชลประทาน กรมส่งเสริมการเกษตร และกระทรวงมหาดไทย ควบคุมการใช้น้ำให้เป็นไปตามแผนที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานเร่งรัดแผนงาน/โครงการพัฒนาแหล่งน้ำต่าง ๆ ในพื้นที่ ที่ได้รับงบประมาณให้เสร็จโดยเร็ว โดยเฉพาะโครงการที่ได้รับงบกลางไปแล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนโดยเร็ว พร้อมเร่งประชาสัมพันธ์ข้อมูลสถานการณ์น้ำเพื่อสร้างการรับรู้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบัน (25 ม.ค. 2565) 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,252 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 53 ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 6,556 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,485 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณที่มีอย่างจำกัดจำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำอย่างเคร่งครัดให้เป็นไปตามแผน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้ โดยเฉพาะน้ำอุปโภคบริโภคต้องไม่ขาดแคลน

สำหรับผลการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ปี 2564/65 ทั้งประเทศเพาะปลูกข้าวไปแล้ว 5.36 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 83 ของแผนฯ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา เพาะปลูกไปแล้ว 3.63 ล้านไร่ เกินแผนที่วางไว้ (แผนวางไว้ 2.81 ล้านไร่)

ทั้งนี้ เนื่องจากปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในเกณฑ์น้อย ประกอบกับปัจจุบันมีการเพาะปลูกเกินแผนที่กำหนด จึงได้กำชับให้โครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา บริหารจัดการน้ำด้วยการหมุนเวียนน้ำในพื้นที่ให้ทั่วถึง เพื่อไม่ให้พื้นที่ที่เพาะปลูกแล้วเกิดความเสียหาย ด้านการเพาะปลูกพื้นที่ลุ่มต่ำ ให้ควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามแผน

รวมทั้งดำเนินการตามมาตรการรองรับสถานการณ์ขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญให้ทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ถึงสถานการณ์น้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของการประหยัดทรัพยากรน้ำ เพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

นอกจากนี้ กรมชลประทาน มีแผนดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำและแก้มลิงเพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ โครงการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ตำบลประศุก อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เป็นเครื่องแบบ Vertical Pump อัตราการสูบ 1.50 ลบ.ม./วินาที จำนวน 3 เครื่อง และเครื่องแบบ Sumersible Pump อัตราการสูบ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 2 เครื่อง มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,000 ไร่ โดยจะสูบน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเติมเข้าระบบชลประทานและรักษาระบบนิเวศในลำน้ำแม่ลา

โครงการแก้มลิงหนองอ้อ พร้อมอาคารประกอบ ตำบลทองเอน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เก็บกักน้ำได้ประมาณ 2 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่รับประโยชน์ 3,500 ไร่ ในเขตตำบลทองเอน ตำบลท่างาม และตำบลงิ้วลาย

และโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ตำบลหัวป่า อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ประกอบด้วยเครื่องสูบน้ำ 2 เครื่อง อัตราการสูบเครื่องละ 0.30 ลบ.ม./วินาที พร้อมท่อส่งน้ำ ยาว 426 เมตร ส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ 1,400 ไร่