พลังงานเคลียร์ปมแพ็กเกจอีวี ก.พ.ชงครม.-ลุ้นแผนเยียวยาชิ้นส่วนฯ

ปลัดพลังงานแจงไม่ใช่ต้นเหตุดอง “แพ็กเกจอีวี” ช้า ยืนยันพร้อมเดินหน้าตามที่คลังเสนอ ไม่มีเหตุผลต้องค้าน “รัฐบาลไม่ได้ถังแตก” สนพ.แจงไทม์ไลน์จ่อชงเข้า ครม.ทัน ก.พ. แง้มมาตรการครบ

หลังจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมประกาศมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) โดยเตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือน ธ.ค. 2564 เพื่อให้มีผลในไตรมาส 1 ปี 2565 แต่ก็เลื่อนมาจนถึงเดือนมกราคม 2565 และมีทีท่าว่าจะเลื่อนต่ออีก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่าเกิดจากความล่าช้าของกระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงพลังงานในฐานะฝ่ายเลขานุการ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้ช้าเพราะกระทรวงอุตสาหกรรม กระแสความช้าจึงอยู่ที่กระทรวงพลังงานในฐานะเลขาฯร่วม

ล่าสุดนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดยานยนต์ไฟฟ้า) มีมติอนุมัติแพ็กเกจอีวีไปเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขานุการคณะ ได้กลับไปจัดทำรายละเอียด และเพิ่งจะเสนอมาในช่วงบ่ายวันที่ 24 มกราคม 2565 เพื่อเตรียมให้รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ลงนามก่อนเสนอบรรจุเป็นวาระพิจารณาคณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งจะสามารถเข้า ครม.ในสัปดาห์หน้าหรือไม่ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สรน.)

“ตอนแรกได้เสนอแพ็กเกจอีวีต่อท่านรองนายกฯ ซึ่งท่านก็ให้นำเข้ามาหารือในบอร์ดอีวี ก็ไม่ได้มีอะไร ประเด็นที่บอร์ดพิจารณา มาตรการ package อีวีได้ข้อสรุปไปหมดแล้ว ปลัดกระทรวงพลังงานจะคัดค้านไม่เห็นด้วยเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีเหตุผลอะไรต้องไปขัดขวาง แต่เรื่องนี้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ที่เป็นฝ่ายเลขาฯเขาก็นำกลับไปทำเรื่องมาเสนอผมวันนี้ (24 ม.ค. 2565) ตอนบ่าย ไปถามเขาได้ นี่มันไม่แฟร์หรือเปล่าต้องขอความยุติธรรมด้วย ปลัดไม่เข้าไปยุ่งกับการทำงานของเขา กระบวนการพิจารณาของ สนพ.ที่ใช้เวลา 5 วัน หลังจากบอร์ดอีวีมีมติถือว่าไม่ใช่เรื่องที่ช้า สนพ.ต้องใช้เวลาเตรียมเรื่องเตรียมเอกสารจำนวนมาก จากหลายหน่วยงาน ส่วนรายละเอียดของแพ็กเกจ ส่วนผมมีเหตุผลอะไรที่จะไม่เห็นด้วยในเมื่อมันผ่านมาหมดเรียบร้อยแล้ว เมื่อบอกมาอย่างนี้ก็ดีพอเรื่องมาถึงห้องผมจะได้รีบผ่านออกไป”

“ประเด็นเหตุผลรัฐบาลไม่มีเงินจึงไม่อยากออกแพ็กเกจอีวีหรือไม่นั้น ยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของคลังที่ต้องรับผิดชอบ ถ้าคลังเห็นด้วยแล้วก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปขัดขวาง ถ้าพลังงานเสนอมาแล้วคลังไม่มีเงินให้มันก็ไปอีกอย่าง แต่นี่คลังเสนอมา 1-2-3-4 จะทำอย่างนี้ จะลดภาษีอย่างนี้ จะใช้อย่างนี้ มันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปคัดค้าน ไม่ได้ไปแตะต้องอะไร เป็นไปตามที่เสนอ”

ส่วนประเด็นผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนบางอย่างที่ใช้ได้เฉพาะรถสันดาป ต้องเลิกผลิต จึงค้านไม่ต้องการให้มีการสนับสนุนรถอีวีนั้น เรื่องนี้จำเป็นต้องพิจาณาและให้ความเป็นธรรมกับโรงงานเขาด้วย เรื่องอย่างนี้ในมาตรการก็ต้องไปช่วยเหลือเขา อย่าลืมว่าส่วนประกอบรถอีวีน้อยกว่ารถสันดาป บางชิ้นส่วน เช่น หัวเทียน หม้อน้ำ ท่อไอเสีย ที่รถสันดาปมี แต่ในการผลิตรถอีวีจะไม่มี เพราะสัดส่วน 40% ของรถอีวี คือ แบตเตอรี่ ซึ่งพวกผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้เราก็ต้องดูแลเขาด้วย ซึ่งประเด็นนี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะฝ่ายเลขาฯร่วมก็มีการดูแลอยู่ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกัน

“สำหรับรายละเอียด package นั้นจะรวมมาตรการของทุกคณะทำงานภายใต้บอร์ดอีวี ซึ่งอาจมีมากกว่ามาตรการเรื่องของภาษีและการสนับสนุนการใช้ อาจจะมีเรื่องของ charging station และมีเรื่องของกระทรวงอุตสาหกรรมด้วย ด้วยเหตุนี้จำนวนเอกสารมีจำนวนมากก็ต้องเห็นใจคนที่เสนอเรื่องเข้า ครม.เหมือนกัน ระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่เขาใช้เขียนเรื่องเพื่อเข้า ครม.ก็ไม่ได้ช้า พอบอร์ดอีวีประชุมเมื่อวันศุกร์ที่แล้วเขาก็ใช้เวลา 5 วัน วันนี้เขาก็ส่งข้อมูลมาที่กระทรวงก็ถือว่าไม่ได้ช้า ทุกอย่างยังเป็นไปตามไทม์ไลน์ที่วางไว้”


ขณะที่นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวยืนยันกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เพิ่งจะเสนอแพ็กเกจอีวีต่อปลัดกระทรวงพลังงานในช่วงบ่ายวันที่ 24 ม.ค.นี้ยืนยันว่าการดำเนินการของบอร์ดอีวีไม่ได้ล่าช้า จากกำหนดที่วางไว้จะเสนอเข้า ครม.ในเดือนก.พ. 2565 ในส่วนของสาระสำคัญก็ใกล้เคียงกับมาตรการที่ออกมาเป็นข่าวก่อนหน้านี้