วิกฤตต้นกล้าปาล์มแพง 3 เท่า ชาวสวนโอด รอคิวจองซื้อยาวถึงสิ้นปี

ราคาปาล์มพุ่งเป็นเหตุ แห่ปลูกเพียบจน “ต้นกล้าปาล์ม” ราคาพุ่ง 3 เท่า ทะลุ 250 บาท แถมขาดตลาด สมาพันธ์เกษตรกรฯ รัฐเร่งวางระบบบริหารจัดการปาล์มในอนาคตดึงโมเดลอินโดนีเซีย-มาเลเซีย ปั้นพืชเศรษฐกิจ ทำคลอด พ.ร.บ.ปาล์ม ก่อนล้นตลาดอีก 3 ปี

แหล่งข่าวจากกลุ่มชาวสานปาล์มเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สถานการณ์จำหน่ายต้นกล้าปาล์มปรับสูงขึ้น 3 เท่าจากปีก่อนหน้าเคยอยู่ที่ต้นละ 80 บาท ตอนนี้ปรับเป็น 180-250 บาท และหาซื้อยากแล้ว เพราะจากสถานการณ์ราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นเป็น กก.ละ 10-11 บาท นับจากปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงปี 2565 ส่งผลให้เกษตรกรพลิกฟื้นกลับมาได้กำไรจากการขายปาล์มเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี

ที่ราคาปาล์มเคยซบเซาเมื่อปี 2562-2563 อยู่ที่ กก.ละ 4-5 บาท ส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องจ่ายประกันรายได้ ตลาดปาล์มฟื้นทำให้เกษตรกรชาวสวนและผู้ที่ไม่ใช่สวนหันมาเร่งเพาะปลูกปาล์มมากขึ้น โดยมีผู้ที่ไม่ใช่ชาวสวนด้วย ผู้ที่มีที่ดินเปล่าที่ต้องเสียภาษีที่ดินก็หันมาสร้างรายได้ด้วยการปลูกปาล์ม ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจราคาสูง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออก ภาคใต้ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกเดิมคาดว่าในอนาคต 1-3 ปีข้างหน้าผลผลิตปาล์มจะออกสู่ตลาดมากขึ้น

นายมนัส พุทธรัตน์ ประธานสมาพันธ์ชาวสวนปาล์มแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้เกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ หันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มมากขึ้น แต่ยังไม่ทราบตัวเลขชัดเจนนอกจากที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ 6.5 ล้านไร่ ว่าปรับขึ้นมากเท่าไร เพราะมีการใช้พื้นที่อื่น ๆ เช่น พื้นที่ว่างเปล่ามาปลูกปาล์ม ส่งผลให้ราคาต้นกล้าปาล์มขยับขึ้นไปมีตั้งแต่ราคาต้นละ 180-200 บาท ไปจนถึง 250 บาท และต้องจองซื้อถึงสิ้นปี 2565

โดยพันธุ์ที่นิยมปลูกมาก ๆ ตอนนี้หาซื้อยาก เช่น โกลเด้นท์ เคบี 4 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ให้ผลดก เมล็ดเต็ม และเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มสูง ซึ่งโดยปกติการปลูกจะมี 2 แบบ คือ แบบไร่คือพื้นที่โล่ง ๆ จะใช้ตนกล้า 20-21 ต้น/ไร่ และพื้นที่สวนที่แบ่งเป็นท้องร่อง จะใช้ 19 ต้น/ไร่ เป็นไปตามลักษณะพื้นที่

รัฐบาลควรวางระบบบริหารจัดการปาล์มเพื่อรองรับผลปาล์มที่จะเพิ่มขึ้น หากเริ่มปลูกปีนี้จะให้ผลผลิตในอีก 3 ปีข้างหน้า ตอนนี้ไทยยังแก้ปัญหาปาล์มแบบเฉพาะหน้า ซึ่งจริงแล้วไทยควรดูผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลกอย่างมาเลเซีย และอินโดนีเซียที่ปลูกมากกว่า 30-40 ล้านไร่ ที่สามารถพัฒนาการผลิตไบโอดีเซลไปถึง B30 และ B40

หากสร้างมูลค่าปาล์มเป็นพืชเศรษฐกิจนำรายได้กลับประเทศไทย รัฐบาลก็ไม่ต้องจ่ายประกันรายได้ แต่การส่งเสริมปาล์มต้องสร้างความสมดุลในเรื่องราคาอย่างไรที่จะให้ชาวสวน ผู้ผลิตน้ำมัน ประชาชนอยู่ร่วมกันได้ ต้องมีการวางระบบหารือกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการยกร่าง พ.ร.บ.ปาล์มน้ำมัน พ.ศ. …ที่ดำเนินการมาหลายปีแต่ก็ยังไม่สามารถผ่านกฎหมายนี้ออกมาได้ ซึ่งไม่ทราบว่าติดปัญหาอย่างไร

“หากมีกฎหมาย พ.ร.บ.ปาล์มจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการปาล์ม เพราะจะมีองค์กรเฉพาะมาดูแลปาล์มทั้งระบบ ต่างจากตอนนี้ที่กระทรวงพาณิชย์ต้องรับภาระหน้าที่ดูแลปาล์ม การบริหารจัดการปาล์มที่เป็นระบบเหมือนมาเลเซีย อินโดนีเซียก็จะทำให้ปาล์มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่แท้จริงที่สามารถสร้างรายได้กลับประเทศ รัฐไม่ต้องจ่ายชดเชย แต่ตอนนี้พอปาล์มราคาต่ำก็ต้องไปชดเชยชาวสวน ชาวบ้านกินน้ำมันปาล์มราคาถูกมานานจนเคยชิน ขวดละ 28-33 บาท พอราคาปาล์มขยับขึ้นไปก็รับไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา

แต่หากเทียบกับแล้วราคาน้ำมันปาล์มถูกกว่าน้ำมันชนิดอื่นมาตลอด เป็นความเข้าใจผิดเรื่องว่าคุณภาพน้ำมันปาล์มไม่ดีเท่าถั่วเหลือง และรัฐก็ประกันรายได้จ่ายให้เพื่อให้ชาวสวนอยู่ได้ แต่หากปาล์มมันไปได้ด้วยตัวของมันเอง มีตลาดรองรับ หมุนเวียนเศรษฐกิจได้ด้วยจะเป็นการดีกว่าหรือไม่”

นายมนัสกล่าวว่า ขณะนี้ราคาผลปาล์มเริ่มอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากก่อนหน้าที่ขยับไปสูงสุด กก.ละ 11.70-11.80 บาท เป็นผลจากมาตรการดูแลราคาปาล์มที่กระทรวงพาณิชย์ขอความร่วมมือให้จำหน่ายปาล์มขวดราคาขวดละ 55 บาท ประกอบกับนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ได้สั่งการให้มีการตรวจสอบสต๊อกปาล์มทั่วประเทศ ซึ่งมีผลต่อจิตวิทยาตลาด ราคาอ่อนตัวลง


อย่างไรก็ตาม ต้องเตรียมแนวทางรับมือในช่วงผลปาล์มออกมากขึ้นใน 1-2 เดือนนี้ ว่าจะเป็นอย่างไร ส่วนเรื่องสต๊อกที่เหลืออยู่ 1.6 แสนตันนั้น แม้ว่าจะต่ำกว่าปริมาณสต๊อกเพื่อความมั่นคงที่ต้องมี 2.5 แสนตันก็จริง แต่ไม่น่าจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาการขาดแคลน ปาล์มมีเพียงพอสำหรับใช้ในประเทศแน่นอนอย่างกังวล