เกษตรปั้นโมเดล “ล้งปลอดโควิด-19” ผลไม้ภาคตะวันออก

มนัญญา ติวเข้มผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุผลไม้ภาคตะวันออก ชูโมเดล “ล้งปลอดโควิด-19” การันตีความปลอดภัยสินค้าคู่ค้าต่างประเทศ กรุยทางส่งออกบก-เรือ-อากาศ รับมือผลผลิตทุเรียนเพิ่ม 20%

วันที่ 28 มกราคม 2565 มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายแนวทางการส่งออกผลไม้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฤดูกาลผลิต ปี 2565 ให้แก่ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุภาคตะวันออก ผ่านการประชุมออนไลน์ระบบ Zoom Meeting ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาทุกด่านของจีนเข้มงวดตรวจสอบสินค้าเกษตรที่นำเข้าจากทุกประเทศ

โดยเฉพาะเรื่องของศัตรูพืชและเชื้อโควิดไม่ให้ปนเปื้อนไปกับสินค้า จึงได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรติดตามสถานการณ์การส่งออกอย่างใกล้ชิด และรายงานให้ทราบทุกระยะ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผลไม้ของไทย 

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เร่งหาแนวทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตรได้จัดฝึกอบรมให้กับผู้ประกอบการ เพื่อให้ความรู้ สร้างความเข้าใจการทำสวนผลไม้ในยุคโควิด-19 โดยอยากให้ล้งต่าง ๆ ร่วมมือกันสร้างโมเดล “ล้งปลอดโควิด-19” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้าต่างประเทศ


และล่าสุดได้มีนโยบายให้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติเฝ้าระวังศัตรูพืชกักกันหรือห้องแลปให้ทันสมัย เพื่อตรวจสอบสารตกค้าง แมลงศัตรูพืช และเชื้อโควิด-19 สร้างความมั่นใจให้กับคุณภาพสินค้าเกษตรไทยไปยังประเทศปลายทาง โดยจะนำร่องที่ จ.หนองคาย ซึ่งขณะนี้ในอยู่ในขั้นตอนจัดตั้งงบประมาณ ในปี 66 แล้ว

สำหรับในฤดูกาลผลิตปี 2565 จากข้อมูลการเพาะปลูกไม้ผลในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ จันทบุรี ระยอง และตราด มีการปลูกผลไม้ส่งออกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน มังคุด และลำไย พื้นที่รวมกว่า 7 แสนไร่ คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีผลผลิตส่งออกประมาณ 1.3 ล้านตัน ทำรายได้เข้าประเทศเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยลำไยอยู่ในช่วงปลายฤดูเก็บเกี่ยว ส่วนทุเรียนและมังคุดผลผลิตจะออกสู่ตลาดตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ และมากที่สุดในช่วงเดือนพฤษภาคม – มิถุนายน 2565

ซึ่งผลผลิตเกือบทั้งหมดจะส่งออกประเทศจีนซึ่งเป็นตลาดหลัก  ปัจจุบันมีโรงงานผลิตสินค้าพืชหรือโรงคัดบรรจุผลไม้ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรรวม จำนวนทั้งสิ้น 1,790 โรง โดยในภาคตะวันออกมีโรงคัดบรรจุผลไม้ส่งออกรวมทั้งสิ้น 702 โรง ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดจันทบุรี 630 โรง

ดังนั้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19 จึงต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเคร่งครัด เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศคู่ค้า จึงข้อความร่วมมือผู้ประกอบการ ตั้งแต่เกษตรกร โรงคัดบรรจุ ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กรมวิชาการกำหนด เพื่อป้องกันการถูกระงับการส่งออก หากประเทศปลายทางตรวจพบ รวมถึงจะกระทบต่อชื่อเสียงและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานจากนายสุธี ทองแย้ม ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี คาดว่าในปีนี้จะมีผลผลิตทุเรียนกว่า 7 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 20% กระทรวงเกษตรฯ จะพยายามช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมากโดยได้มีการประสานระบบการขนส่งทั้งทางบก เรือ และอากาศ เพื่ออำนวยความสะดวกกระจายผลผลิตในการส่งออกสินค้าผลไม้ให้มากที่สุด

นอกจากนั้น จะเชิญทูตเกษตรจีนและประเทศคู่ค้าผลไม้ภาคตะวันออก ประชุมหารือร่วมกันผ่านระบบออนไลน์ สอบถามถึงความต้องการสินค้า รวมถึงมาตรการสินค้านำเข้าส่งออกว่าต้องมีกฎเกณฑ์การพิจารณาอย่างไร เพื่อนำมาปรับปรุงผลผลิตตั้งแต่ต้นทาง ลดอุปสรรคและลดเวลาการตรวจที่ด่านต้นทางและปลายทาง รวมถึงลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสินค้าในแต่ละล็อต เป็นการตรวจสอบสินค้าเกษตรล่วงหน้าก่อนส่งออก 

“เรื่องระบบโลจิสติกส์เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการขนส่งผลไม้ ซึ่งกรณีขนส่งทางเรือจะใช้เวลา 7 วัน รถไฟ 1 วัน เครื่องบิน 1 – 2 ชั่วโมง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นทุนที่ต้องนำมาคิดทบทวนให้ครอบคลุมทุกด่าน จะพยายามช่วยเหลือในการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะการขนส่งทางเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม คุณภาพสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต้องไม่มีการตัดทุเรียนแก่ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการทุกสวน ทุกล้งต้องช่วยกัน และสร้างโมเดลล้งปลอดโควิด-19 สร้างความน่าเชื่อถือให้จีนและประเทศคู่ค้าทุกประเทศ กระทรวงเกษตรฯ หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการในการให้ความสำคัญตามมาตรการของจีนเพื่อป้องกันโควิด-19 และศัตรูพืชในผลไม้อย่างเคร่งครัด เราในฐานะรัฐมนตรีช่วยฯ ก็เป็นชาวสวนคนหนึ่ง เข้าใจปัญหาเป็นอย่างดี และพร้อมจะฝ่าวิกฤตินี้ไปด้วยกัน จะเร่งแก้ปัญหาให้ทันท่วงทีและเคียงข้างเกษตรกร จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” รมช.มนัญญา กล่าว

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลการส่งออกสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า ต้องรักษาคุณภาพ และความปลอดภัยของศัตรูพืชไม่ให้ติดปนเปื้อนไปกับสินค้า โดยก่อนเข้าสู่ฤดูกาลส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกในปี 2565 นี้ กรมวิชาการเกษตรได้มีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุพื้นที่ภาคตะวันออก

โดยสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด (DMA) และสมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ (MAFTA) จัดฝึกอบรมมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ ให้กับผู้ประกอบการและผู้ควบคุมคุณภาพประจำโรงคัดบรรจุ จำนวน 400 คน รวมทั้งจัดทำคู่มือและคลิปวีดีโอ การบริหารจัดการโรงคัดบรรจุที่ถูกต้องตามมาตรฐาน GMP และมาตรการป้องกันโควิด-19 ในโรงคัดบรรจุ เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง โดยมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการโรงคัดบรรจุเข้าใจในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ในการส่งออกผลไม้

โดยจะมีการเพิ่มมาตรการในการตรวจติดตามโรงคัดบรรจุ GMP Plus (มาตรการ GMP + Covid-19 ) ควบคู่กับมาตรการตรวจสอบคุณภาพทุเรียนเพื่อป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพปะปนไปในช่วงต้นฤดู ซึ่งจะส่งผลให้ราคาทุเรียนตกต่ำและผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นในคุณภาพของทุเรียนไทย

รวมทั้งได้เตรียมแผนรองรับการตรวจปิดตู้คอนเทนเนอร์ของด่านตรวจพืช และการออกใบรับรองสุขอนามัยพืช (PC)  โดยเพิ่มอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในช่วงเวลาดังกล่าวมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอีกหนึ่งเท่า เพื่ออำนวยความสะดวกให้การส่งออกมีความคล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น

สำหรับด่านนำเข้า – ส่งออก ตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบผลไม้ผ่านประเทศที่สาม ในการขนส่งทางบก รวมจำนวนทั้งสิ้น 16 ด่าน โดยเป็นด่านของไทย 6 ด่าน ประกอบด้วย ด่านเชียงของ มุกดาหาร นครพนม บ้านผักกาด บึงกาฬ หนองคาย และด่านของจีน 10 ด่าน ประกอบด้วย โหย่วอี้กว่าน โม่ฮาน ตงซิง ด่านรถไฟผิงเสียง ด่านรถไฟโม่ฮาน เหอโข่ว ด่านรถไฟเหอโข่ว หลงปัง เทียนเป่า และสุยโข่ว