“สมคิด” ปิดจุดอ่อน “เอสเอ็มอี” คลอด 10 มาตรการของขวัญปีใหม่

แม้ว่าตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ที่ออกมาจะทำให้รัฐบาล โดยเฉพาะ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ จะสบายใจมากขึ้น แต่ประเด็นปัญหาของประชาชนฐานรากภาคเกษตร และกลุ่มเอสเอ็มอี ยังถือว่าเป็นจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจที่รัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ตก

ดังนั้นในช่วงเวลานี้รัฐบาลจึงพุ่งเป้าให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ด้วยการเร่งเติมเงินในกระเป๋าให้กับบุคคลที่ขึ้นทะเบียนในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 11.4 ล้านคน เพื่อที่จะให้การดำเนินมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เข้าไปตรงจุด และตรงกลุ่มเป้าหมาย ทั้งอนาคตมีการพูดถึงการต่อยอดการช่วยเหลือ “ผู้มีรายได้น้อย” ที่กำลังจะออกแพ็กเกจในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า ทั้งการจ้างงาน ฝึกอบรมอาชีพเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้ในอนาคต

สร้าง “บิ๊กดาต้า” ปิดจุดอ่อน “เอสเอ็มอี”

และอีกโจทย์สำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษเวลานี้คือ การช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก หรือเอสเอ็มอี ที่เวลานี้ยังถือว่าอ่อนแอและถือเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจไทย แต่การเข้าไปช่วยเหลือให้ “ตรงจุด ตรงเป้า” มากขึ้น ก็ต้องอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียด ดังนั้นที่ผ่านมาทางรองนายกฯสมคิดจึงได้สั่งการให้ธนาคารกรุงไทยร่วมมือกับธนาคารรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำ “บิ๊กดาต้าเอสเอ็มอี” เป้าประสงค์หลักก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการวางนโยบาย และเข้าไปดูแล หรือช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ “ตรงจุด” มากขึ้น ไม่เหวี่ยงแหเหมือนอดีต

“ผยง ศรีวณิช” กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า กรุงไทยได้เข้าไปช่วยรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่มีอยู่จากแบงก์รัฐ หน่วยงานรัฐทั้งหมด เพื่อให้เห็นภาพรวมสถานะของเอสเอ็มอีที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งจากการทำข้อมูลจะเห็นว่าเอสเอ็มอียังเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างน้อย โดยจากเอสเอ็มอีทั่วประเทศที่มีกว่า 3 ล้านราย พบว่ามีเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบงก์รัฐเพียง 6.2% หรือ 186,462 รายเท่านั้น เช่นพบว่าเอสเอ็มอีภาคอีสาน และภาคตะวันออก เข้าถึงแหล่งทุนจากแบงก์รัฐน้อยกว่าภาคอื่น ๆ ขณะที่หนี้เสียของเอสเอ็มอีกลุ่มนี้สูงถึง 12.46% ของสินเชื่อ

“การจัดทำบิ๊กดาต้านี้เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีอย่างมาก เพราะจะทำให้การดีไซน์นโยบายเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีในอนาคตทำได้ง่ายขึ้น ว่าเอสเอ็มอีประเภทนี้ ธุรกิจขนาดนี้ จะเข้าถึงสินเชื่อ หรือการช่วยเหลือรูปแบบใดได้บ้าง หรือกลุ่มไหนที่มีความเสี่ยง”

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ ยังเป็นการสุ่มจากตัวอย่างฐานข้อมูลแบงก์รัฐเท่านั้น ไม่รวมข้อมูลของธนาคารพาณิชย์ และสเต็ปต่อไปก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องขับเคลื่อนนโยบายไปสู่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อที่จะได้ฐานข้อมูลจากธนาคารพาณิชย์มารวมด้วยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ เพื่อทำให้การมองภาพของเอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มจังหวัดในอนาคตชัดเจนขึ้น

แพ็กเกจของขวัญปีใหม่เอสเอ็มอี

และเมื่อ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา รองนายกฯสมคิดนั่งเป็นประธานประชุมนโยบายขับเคลื่อนเอสเอ็มอีสู่ยุค 4.0 ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมาตรการพิเศษช่วยส่งเสริมศักยภาพเอสเอ็มอีในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการช่วยเหลือด้านการเงิน การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าถึงความรู้ เข้าถึงตลาด เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต

รองนายกฯสมคิดกล่าวว่า แพ็กเกจหลักที่จะเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับกลุ่มเอสเอ็มอีมี 2 ด้าน คือแพ็กเกจส่งเสริมและช่วยเหลือที่ไม่ใช่ด้านการเงิน และแพ็กเกจด้านการเงิน ที่อยู่ระหว่างเสนอ ครม. วงเงิน 7 หมื่นล้านบาท เช่นการจัดตั้งกองทุนและสินเชื่อ transformation loan เพื่อเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นซอฟต์โลนดอกเบี้ยต่ำ วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท, สินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอีขนาดเล็ก เพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนวงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และกองทุนสำหรับคนตัวเล็กที่เข้าถึงแหล่งเงินทุนยากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน วงเงิน 2 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท ดอกเบี้ย 1% คงที่ 7 ปี

อัด 9 มาตรการที่ไม่ใช่ด้านการเงิน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า มาตรการจะเน้นความช่วยเหลือให้เข้าไปสู่ชุมชนและเจาะลงไปที่กลุ่มไมโครเอสเอ็มอีที่อยู่ในชุมชนมากขึ้น เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว เกษตรแปรรูปและการผลิตระดับชุมชน สำหรับมาตรการความช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่ไม่ใช่ด้านการเงินมี 9 มาตรการ คือ ขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center : ITC) 23 แห่งทั่วประเทศ เพื่อยกระดับนวัตกรรมเอสเอ็มอีสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ 2.ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี 248 แห่ง โดยการเชื่อมโยงความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ ผ่านระบบดิจิทัลเพื่อบูรณาการการให้คำปรึกษาครบจบในจุดเดียว 3.พัฒนาโค้ชเพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีปรับตัวสู่ยุค 4.0 4.พัฒนาฐานข้อมูลเอสเอ็มอีให้สมบูรณ์ (บิ๊กดาต้าเอสเอ็มอี) พร้อมเปิดแพลตฟอร์มที่เป็นแหล่งรวมความรู้และบริการให้เอสเอ็มอีเข้าถึงบริการทั่วถึงทุกที่ ทุกเวลา

5.Big brothers ดึงผู้ประกอบการรายใหญ่มาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อบ่มเพาะแนวคิดธุรกิจและเทคโนโลยี ผลักดันเอสเอ็มอีสู่เวทีโลกตามแนวทางประชารัฐ 6.Digital value chain ผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่เครือข่ายตลาดโลก 7.Financial literacy เสริมแกร่งเอสเอ็มอีรอบรู้การเงิน เพื่อเตรียมความพร้อมให้เข้าถึงแหล่งทุนและปรับปรุงระบบบัญชีเพื่อเข้าสู่ระบบบัญชีเดียว 8. SMEs StanDard UP ยกระดับเอสเอ็มอีสู่มาตรฐานที่เหมาะสม

พร้อมกับสร้างมาตรฐานเฉพาะของเอสเอ็มอี 9.การยกระดับเศรษฐกิจฐานชุมชน สร้างงาน สร้างโอกาส สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ดึงธุรกิจรายใหญ่ช่วยสนับสนุนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนในท้องถิ่นตามแนวทางประชารัฐ

เข็นแบงก์รัฐวิ่งนำแบงก์พาณิชย์

รองนายกฯสมคิดกล่าวว่า ทุกมาตรการที่กล่าวมานี้คิดเป็นวงเงินราว 2 แสนล้านบาท ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งรวมทั้งจากแพ็กเกจสินเชื่อและกองทุนที่ตั้งมาเฉพาะ และวงเงินสินเชื่อจากธนาคารรัฐ โดยคาดว่าจะสามารถช่วยให้เอสเอ็มอีราว 2 แสนรายเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมีเอสเอ็มอีที่ได้ประโยชน์จากโครงการอื่น ๆ รวมมากกว่า 1 ล้านราย โดยแพ็กเกจเหล่านี้จะเสนอเข้า ครม.ได้ราว ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี

พร้อมกันนี้ รองนายกฯสมคิดได้สั่งการให้ธนาคารรัฐทุกแห่งเพิ่มวงเงินการปล่อยสินเชื่อสำหรับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะธนาคารออมสิน ที่มีการปล่อยสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ราว 5% ของพอร์ตสินเชื่อ ก็ได้มอบนโยบายให้เพิ่มเป็น 10%

ขณะที่สั่งการให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ธพว.) เพิ่มวงเงินปล่อยกู้เอสเอ็มอีจาก 70,000 ล้านบาท เป็น 90,000 ล้านบาท รวมทั้งให้ธนาคารกรุงไทยเพิ่มเป้าปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี จากเดิม 4 หมื่นล้านบาท เป็น 5 หมื่นล้านบาท โดยรองนายกฯสมคิดย้ำว่า มาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ต้องให้มีความคืบหน้าภายใน 3 เดือน


“เอสเอ็มอีจะเติบโตหรือไม่ขึ้นอยู่กับทุกคนที่ต้องช่วยกัน เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น และการออกมาตรการเหล่านี้ไม่ได้ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ได้หวังผล เพราะปีหน้าจีดีพีลอยลำอยู่แล้ว จึงไม่ได้มุ่งหวังเพื่อทำให้จีดีพีโต แต่ต้องการให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง ดังนั้นแบงก์รัฐทำอะไรได้ก็ต้องทำ เพราะธนาคารไม่ใช่ทำหน้าที่แค่ปล่อยสินเชื่ออย่างเดียว และบทบาทบางอย่างก็ต้องเดินนำแบงก์พาณิชย์บ้าง” รองนายกฯสมคิดกล่าว