เครื่องซักผ้าจากไทยไม่รอด ทรัมป์ใช้เซฟการ์ดลุ้นภาษีในนอกโควตา

ไทยติดบ่วงสหรัฐ เคาะมาตรการเบื้องต้นรีดเซฟการ์ด “เครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ” นำเข้า 3 ปี กำหนดโควตาพร้อมภาษี เว้นให้เฉพาะประเทศคู่ค้าที่มี FTA

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560 ทางคณะกรรมาธิการการค้าระหว่างประเทศ (USITC) ได้มีการลงคะแนนเรื่องการใช้มาตรการเยียวยา (remedy vote) กรณีที่ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าสหรัฐ Whirl-pool Corporation ยื่นร้องให้เปิดไต่สวนเพื่อใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กับสินค้าเครื่องซักผ้านำเข้า และส่วนประกอบจากทั่วโลก (Investigation No.TA-201-76) (Large Residential Washers-LRWs) ใน 3 พิกัด คือ พิกัด 845020 พิกัด 845090 และพิกัด 845011 ตามความผิดมาตรา 201 กฎหมายการค้าสหรัฐ

โดยผลสรุปเบื้องต้นกำหนดให้ใช้มาตรการกำหนดโควตานำเข้าเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบ พร้อมทั้งปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าในและนอกโควตา หรือ Tariff-Rate-Quota (TRQ) (ตามตาราง) เป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งหลังจากนี้ USITC จะเปิดรับความเห็นเกี่ยวกับผลการพิจารณามาตรการเยียวยาขั้นต้นภายในวันที่ 11 ธันวาคมนี้ ก่อนที่จะเสนอผลสรุปต่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ภายใน 60 วัน หรือราววันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อให้ความเห็นชอบประกาศให้มีผลบังคับใช้ น่าจะเริ่มช่วงไตรมาสแรกของปี 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ แม้ว่าคณะกรรมาธิการทั้ง 4 คน จะมีมติเป็นเอกฉันท์ที่จะเสนอให้ประธานาธิบดีสหรัฐ กำหนด TRQ สำหรับเครื่องซักผ้าไว้ แต่มีกรรมาธิการบางคนที่เสนอไม่ให้มีการกำหนดภาษีนำเข้าในโควตา หมายถึงในโควตาภาษี 0% นอกจากนี้ยังมีความเห็นว่า ควรแยกมาตรการสำหรับชิ้นส่วนเครื่องซักผ้าบางรายการอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สหรัฐได้ยกเว้นมาตรการเซฟการ์ดสำหรับประเทศคู่ค้าที่มีการทำความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐ เช่น ประเทศเม็กซิโก แคนาดา ซึ่งมีความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) หรือออสเตรเลีย โคลอมเบีย คอสตาริกา โดมินิกัน เอลซัลวาดอร์ กัวเตมาลา ฮอนดูรัส อิสราเอล จอร์แดน เกาหลีใต้ นิการากัว ปานามา เปรู สิงคโปร์ ซึ่งต่างมีความตกลง FTA กับสหรัฐ หรือกลุ่มประเทศอยู่ภายใต้กฎหมาย Caribbean Basin Act ซึ่งไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายในสหรัฐ

รายงานข่าวระบุว่า ยอดการส่งออกสินค้าที่ถูกใช้มาตรการเซฟการ์ด ในพิกัด 845020 เครื่องจักรซึ่งบรรจุผ้าซักแห้งเกิน 10 กก. มูลค่า 1,154 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 20.2 ล้านบาท ส่วนยอด10 เดือนแรก (มกราคม-ตุลาคม) 2560 มูลค่า 4,209 ล้านบาท

ส่วนการส่งออกสินค้าพิกัด 845090 ส่วนประกอบเครื่องซักผ้าชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนหรือใช้ในการซักรีด รวมถึงเครื่องซักผ้าที่มีเครื่องทำให้แห้ง เมื่อเดือนตุลาคม 2560 มีมูลค่า 3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 2.7 ล้านบาท ส่งผลให้ยอดส่งออก 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2560 มูลค่า 19.2 ล้านบาท, ยอดส่งออกสินค้าพิกัด 845011 เครื่องซักผ้าชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนหรือใช้ในกิจการซักรีดแบบอัตโนมัติ ซึ่งจุผ้าซักแห้งไม่เกิน 10 กก. มูลค่า 2.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อนมูลค่า 8.1 ล้านบาท และยอด 10 เดือนแรก (ม.ค.-ต.ค.) 2560 มูลค่า 72.5 ล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตว่า สินค้าพิกัด 845020 มียอดการส่งออกจากไทยเพิ่มขึ้นสูงเกิน 100% จาก 20.2 ล้านบาท เป็น 1,154 ล้านบาทในปีนี้ เนื่องจากไทยกลายเป็นฐานการผลิตของผู้ผลิตเครื่องซักผ้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทเกาหลี ได้ย้ายฐานการลงทุนเข้ามาผลิตเครื่องซักผ้าในประเทศไทย เพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นผลสะท้อนภายหลังจากที่เครื่องซักผ้าที่ผลิตจากประเทศเกาหลีและจีนถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (antidumping หรือ AD) ไปแล้วก่อนหน้านี้ ทำให้เกาหลีและจีนต้องมาตั้งโรงงานผลิตส่งออกจากไทยแทน