รื้อเกณฑ์3กองทุนSMEs ดันยอดขอสินเชื่อค้างท่อ

คณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐเล็งปรับเกณฑ์ 3 กองทุนช่วย SMEs หลังหลุดเกณฑ์ ยอดขอค้างท่อเพียบ โดยเฉพาะเงื่อนไขปล่อยกู้ “กองทุน 20,000 ล้าน” จากที่ให้เป็น “เงินลงทุน” เปลี่ยนให้นำไปใช้เป็น “ทุนหมุนเวียน” ได้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะกรรมการกองทุนช่วยเหลือเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท เตรียมปรับเกณฑ์การอนุมัติวงเงินให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) สามารถนำไปใช้เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนได้ จากเดิมที่มีเกณฑ์กำหนดไว้ว่าเงินช่วยเหลือที่ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการกองทุน แล้วจะสามารถนำไปใช้เพื่อการลงทุนเท่านั้น โดย SMEs จะนำใบสั่งซื้อ (PO) มายื่นเบิกที่หน่วยงานรับผิดชอบและนำเงินที่ได้รับการอนุมัติแล้วในสัดส่วนแรก ไปใช้เพื่อชำระค่าซื้อเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการลงทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ โดยมีนายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเพื่อพิจารณาว่าจะกำหนดสัดส่วนระหว่างเงินทุนหมุนเวียน และเป็นเงินลงทุนเท่าไร อย่างไรก็ตามสัดส่วนเงินทุนหมุนเวียนที่เหมาะสมควรจะอยู่ประมาณ 10-20% หรืออาจสูงสุดถึง 30% ของยอดวงเงินอนุมัติ และส่วนที่เหลือจะเป็นเงินเพื่อใช้ลงทุนใหม่

“ที่เราต้องปรับเพราะเมื่อ SMEs ซื้อเครื่องจักรไปแล้ว ยังมีเรื่องเงินค่าติดตั้ง ค่าดำเนินการต่าง ๆ ซึ่ง SMEs จำเป็นต้องมีเงินทุนเหล่านี้ไว้ใช้จ่ายด้วย แต่กระบวนการอนุมัติยังเหมือนเดิมคือ ให้คณะอนุกรรมการบริหารกองทุนชุดที่ 1 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน คัดเลือก กลั่นกรอง และวิเคราะห์ศักยภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการบริหารประกาศกำหนดตามนโยบายยุทธศาสตร์จังหวัดก่อน จากนั้นส่งต่อให้คณะอนุกรรมการวิเคราะห์การเงินชุดที่ 2 ซึ่งมีอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นประธาน และผู้แทนสถาบันการเงินเพื่อวิเคราะห์การเงินแล้วจึงอนุมัติ”

ขณะเดียวกันหลังจากประชุมร่วมกับธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียมปรับกระบวนการพิจารณามาตรการช่วยเหลือ SMEs ของ 2 กองทุน คือ กองทุนฟื้นฟูวงเงิน 2,000 ล้านบาท และกองทุนพลิกฟื้น 1,000 ล้านบาท ที่บริหารจัดการโดย สสว. เนื่องจากพบว่ามียอดขอรับสินเชื่อจำนวนสูงกว่า 20,000 ราย แต่ไม่สามารถพิจารณาเพื่ออนุมัติวงเงินช่วยเหลือได้ ด้วยระบบการวิเคราะห์พิจารณาไม่ทัน ทำให้มียอดที่ยังค้างการพิจารณาจากทั้ง 2 กองทุนรวมกว่า 1,500 ล้านบาท

โดยยังติดเกณฑ์ที่กองทุนกำหนด เช่น SMEs มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ดังนั้นจึงมอบหมายให้ SME Bank เข้ามาดูแลกระบวนการวิเคราะห์และพิจารณายอดคำขอที่ค้างอยู่ให้หมดทันที โดยจะรื้อระบบทั้งหมดเพื่อให้ SME Bank เข้าไปวางระบบใหม่ และส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเช็กกิจการทันที โดยไม่ต้องเริ่มตั้งแต่กระบวนที่ 1 เพื่อไล่แก้ปัญหายอดคำขอที่ค้างอยู่ ขณะนี้กองทุนฟื้นฟูฯ มีการอนุมัติวงเงินช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 300-400 ล้านบาท และในส่วนของกองทุนพลิกฟื้น ที่อนุมัติวงเงินช่วยเหลือไปแล้วประมาณ 400-500 ล้านบาท

“ปัญหาคือระบบการบริหารแบบเดิมทำให้การวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ ไม่ทัน SMEs ต้องรอนาน บางรายหลายเดือนยังไม่รู้ว่าตัวเองจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ อย่างพื้นที่ต่างจังหวัดศูนย์บริการของ สสว. เมื่อรับคำขอมาแล้วจะต้องส่งเข้าส่วนกลางเป็นผู้พิจารณา เมื่อมีการวางระบบใหม่เพื่อใช้ในการพิจารณายอดคำขอของ SMEs กระบวนการเบื้องต้นจะต้องอยู่ภายใต้การพิจารณาเพียง 7 วัน เพื่อแจ้งให้ SMEs ทราบว่าผ่านเกณฑ์ หรือไม่ผ่านเกณฑ์ จากนั้นภายในระยะเวลา 30 วันจะต้องเข้าสู่การเซ็นสัญญากู้ให้แล้วเสร็จ”

กระบวนการพิจารณาใหม่ที่ SME Bank เข้ามาดูจะใช้สำหรับยอดคำขอใหม่ซึ่งเตรียมไว้เพื่อใช้ต้นปี 2561 สำหรับ 2 กองทุนฯ คือ 1.วางระบบและโปรแกรมเช็กคุณสมบัติ เช่น เมื่อ SMEs ยื่นคำขอที่หน่วยงานให้บริการจะสามารถแจ้งได้ทันทีว่ารายดังกล่าวผ่านเกณฑ์หรือไม่ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนที่ 2 คือ การให้หน่วยงานส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบกิจการ สถานะของแต่ละแห่งว่าดำเนินกิจการจริงหรือไม่ตามที่แจ้งในรายละเอียดคำขอ เมื่อผ่านทั้ง 2 กระบวนการจะเข้าสู่การเซ็นสัญญาภายในระยะเวลา 30 วัน

อนึ่งก่อนหน้านี้ทางกระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยมีการปรับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของ SMEs เช่น การปรับสัดส่วนวงเงินการปล่อยกู้ โดยผู้ประกอบการรายเล็ก(น้อยกว่า 3 ล้านบาท)ปรับลดจาก 75% เหลือ 50% และผู้ประกอบการรายใหญ่(วงเงิน 3-10 ล้านบาท) ปรับสัดส่วนจาก 25% เพิ่มเป็น 50%