กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจับมือสหกรณ์โคนมไทยเตรียมความพร้อมเกษตรกร-ผู้ประกอบการโคนมยุคการค้าเสรี

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศร่วมกับกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยเตรียมลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมใน 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และกาญจนบุรี ระหว่างเดือนธันวาคม 2560 – กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยในยุคการค้าเสรี โดยจะนำร่องในภาคเหนือลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรกในวันที่ 21 – 22 ธันวาคม ศกนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรองรับการค้าเสรี โดยในปีงบประมาณ 2561 กรมฯ ได้ร่วมมือกรมปศุสัตว์และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทยลงพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และกาญจนบุรี เพื่อพบปะกับสหกรณ์โคนม ผู้ประกอบการแปรรูปนมและผลิตภัณฑ์นมในท้องถิ่นในการเตรียมความพร้อมเกษตรกรและผู้ประกอบการให้สามารถพัฒนาปรับตัวรองรับการเปิดเสรีสินค้านมและผลิตภัณฑ์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ออสเตรเลีย และ FTA ไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีผลอย่างสมบูรณ์ภายในปี 2564 และ 2568 และบุกตลาดนมของ CLMV ที่จะเปิดเสรี FTA อาเซียนให้ไทยในปี 2561

ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดทำ FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นความตกลง FTA ลำดับต้น ๆของไทยที่มีผลใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 2548 ปัจจุบันออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ได้ลดภาษีสินค้าทุกรายการให้กับไทยเหลือศูนย์แล้วตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ส่วนไทยได้ลดภาษีสินค้าเกือบทั้งหมดเหลือศูนย์แล้วเช่นกัน แต่ยังคงเหลือเฉพาะสินค้าเกษตรอ่อนไหวบางรายการซึ่งรวมถึงสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมที่ไทยยังใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อให้ภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมของไทยมีเวลาในการปรับตัว โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์นมที่เปิดตลาดลดภาษีเหลือศูนย์แล้ว เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2559 คือ นมและครีมข้นไม่หวาน และบัตเตอร์มิลล์ ยังคงเหลือสินค้าที่จะทยอยเปิดตลาดโดยการเพิ่มปริมาณโควตานำเข้า และทยอยลดภาษีนำเข้าจนไม่มีโควตาและไม่เก็บภาษีอีกต่อไปในปี 2564 และ 2568 ได้แก่
– สินค้านมผงที่มีไขมันเกิน 1.5% (ไม่ใช้เลี้ยงทารก) ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนม หางนม (เวย์) เนย ไขมันเนย (AMF) และกลุ่มสินค้าเนยแข็ง จะเปิดตลาดในปี 2564
– สินค้านมและครีม เครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่ง นมผงขาดมันเนย จะเปิดตลาดในปี 2568

จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่า ไทยได้ประโยชน์จากการจัดทำความตกลง FTA กับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยการค้าระหว่างไทยกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2559 การค้าไทยกับออสเตรเลียมีมูลค่า 13,727 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และการค้าไทยกับนิวซีแลนด์มีมูลค่า 2,022 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าและ 3.6 เท่าตัวจากปี 2547 ตามลำดับ และไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้ากับทั้งสองประเทศมาโดยตลอด โดยไทยส่งออกสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ อาหารกระป๋องและแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยางไปยังออสเตรเลีย และส่งออกสินค้ารถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังนิวซีแลนด์ได้เพิ่มสูงขึ้น

นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมครั้งนี้ เป็นโอกาสที่กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เกษตรกร และผู้ประกอบการ ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยนอกจากจะเป็นการพลิกวิกฤติหรือความท้าทายที่เกิดจากการเปิดเสรี FTA ไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ให้เป็นโอกาส สร้างความตระหนักรู้และเตรียมความพร้อมให้กับเกษตรกรและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมไทยแล้ว ยังเป็นโอกาสที่สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยจะขยายตลาดส่งออกไปในอาเซียนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 กัมพูชา ลาว และเมียนมา ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย จะต้องลดภาษีนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้เหลือศูนย์ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน กรมฯ เห็นถึงโอกาสในการส่งเสริมและผลักดันผลิตภัณฑ์นมของไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศอย่างจริงจัง จึงมีโครงการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย และลงพื้นที่เพื่อคัดเลือกกลุ่มเกษตรกรหรือผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์นม (เช่น นมยูเอชที โยเกิร์ต ไอศกรีม) การสร้างแบรนด์ การพัฒนาหีบห่อบรรจุภัณฑ์ และนำออกสู่ตลาดต่างประเทศ รวมทั้งเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์จะจัดในประเทศเป้าหมาย อาทิ งาน Top Thai Brands ที่กัมพูชา ลาว เวียดนาม เมียนมา และจีน ในปี 2561 เป็นต้น

ปัจจุบัน ไทยมีการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีมูลค่าส่งออก 52.23 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เวียดนาม และเมียนมา (CLMV) ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ ยังส่งออกไปฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย จีนและฮ่องกง เป็นต้น